วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทน (ตอนที่ 2)

เมื่อเลื่อนตำแหน่งควรจะปรับเงินเดือนอย่างไร ?

ในตอนที่แล้วผมได้พูดถึงวิธีการปฏิบัติในกรณีที่เราทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วมีพนักงานที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าอัตราเริ่มต้นของโครงสร้างเงินเดือน หรือมีพนักงานที่เงินเดือนตัน (หรือเงินเดือนเกินกว่าอัตราสูงสุดของโครงสร้างเงินเดือน) ว่าจะต้องทำอย่างไรไปแล้ว

            ในตอนนี้เราก็มาพูดกันต่อในเรื่องวิธีการบริหารค่าตอบแทนในส่วนของการปรับเงินเดือนในกรณีที่พนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งซึ่งก็จะต้องมีขอบเขตความรับผิดชอบที่มากขึ้น และส่วนใหญ่ก็จะต้องมีการปรับเงินเดือนเพิ่มให้ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าหากเลื่อนตำแหน่งให้แล้วได้แต่กล่อง (คือตำแหน่ง) แต่เงินไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้วใครจะอยากเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาล่ะครับ

            เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะมีวิธีการปรับเงินเดือนเนื่องจากการเลื่อนตำแหน่งกันอย่างไรดังนี้ครับ

1.      โดยทั่วไปเรามักจะเคยชินกับการปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งจากฐานเงินเดือนกันอยู่แล้ว เช่น

ปัจจุบันเงินเดือน 20,000 บาท เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งบริษัทมีหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนให้สำหรับคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง 10 เปอร์เซ็นต์ พนักงานคนนี้ก็จะได้รับเงินเดือนใหม่ 22,000 บาท (ได้รับการปรับเงินเดือนเนื่องจากการเลื่อนตำแหน่ง 2,000 บาท) เพราะเหตุว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ หรือมีหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปมากขึ้นกว่าเดิมใช่ไหมครับ

2.      แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามแนวทางข้อ 1 สมมุติว่าพนักงานที่เงินเดือนใกล้ตันในกระบอกเงินเดือนเดิมล่ะ เรายังจะต้องปรับเงินเดือนให้เขาเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกหรือ ผมยกตัวอย่างเช่น นาย A เป็นเจ้าหน้าที่บัญชีปัจจุบันรับเงินเดือนอยู่เดือนละ 25,000 บาท ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนในระดับชั้นของนาย A จะมี Minimum = 10,000 และมีเพดานเงินเดือน หรือ Maximum = 25,000 บาท หรือเรียกว่านาย A เงินเดือนตันแล้วก็ได้ แล้วนาย A ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นในระดับชั้นถัดไปเป็นหัวหน้างานบัญชีซึ่งมีโครงสร้างเงินเดือนเริ่มต้นหรือ Minimum = 11,000 บาท และมี Maximum = 27,500 บาท หากนาย A ได้รับการปรับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์คือ 10 เปอร์เซ็นต์ นาย  A ก็จะได้รับการปรับเท่ากับ 25,000x10%=2,500 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินเดือนใหม่ 27,500 บาท ซึ่งก็จะเท่ากับอัตราสูงสุดของกระบอกเงินเดือนใหม่ทันที
            หรือพูดง่าย ๆ ว่าพอเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาก็เงินเดือนตัน (ในกระบอกเงินเดือนใหม่) เสียแล้ว

แล้วควรจะทำยังไงดีล่ะครับ ?

3.      ในกรณีข้อ 2 นี้ จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการเลื่อนตำแหน่งว่า หากพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่ง บริษัทก็จะปรับเงินเดือนให้ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกินค่ากลาง (Midpoint) ของกระบอกเงินเดือนใหม่ครับ

ดังนั้นจากตัวอย่างตามข้อ 1 นาย A ก็จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือน 10 เปอร์เซ็นต์ตามหลักเกณฑ์ของบริษัทเนื่องจากอัตราเงินเดือนปัจจุบันเกินค่ากลาง หรือ Midpoint ของกระบอกเงินเดือนใหม่ (วิธีคำนวณหาค่ากลางของกระบอกเงินเดือนคือ Max+Min หาร 2 จากตัวอย่างตามข้อ 2 ก็คือ 27,500+11,000 หาร 2 = 19,250 ครับ) ดังนั้น นาย A ก็จะได้รับเงินเดือนเท่าเดิม เพื่อไม่ให้นาย A เงินเดือนตันเร็วเกินไป

บางท่านอาจจะแย้งว่า “เอ๊ะ! อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งน่ะสิ เพราะเลื่อนตำแหน่งแล้วได้แต่กล่อง (คือตำแหน่ง) แต่เงินไม่ได้”

คำตอบก็คือ ปกติแล้วค่าตอบแทนที่มีการจ่ายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม (Equal work equal pay) กล่าวคือลูกจ้างก็ทำงานให้กับนายจ้างเต็มที่ และนายจ้างก็จ่ายให้ลูกจ้างอย่างยุติธรรมนั้นคืออัตราการจ่ายกันที่ค่ากลางหรือ Midpoint ครับ
            ดังนั้นถ้าลูกจ้างทำงานแล้วได้รับเงินเดือนยังน้อยกว่า Midpoint ในกระบอกเงินเดือนของตัวเองก็แสดงว่าลูกจ้างทำงานเต็มที่แต่นายจ้างยังจ่ายให้น้อยกว่าเป็นควรเป็น (เรียกทางเทคนิคว่านายจ้างจ่าย Under Paid ครับ)

ในทางกลับกัน หากลูกจ้างทำงานแล้วได้รับเงินเดือนมากเกินกว่า Midpoint ก็แสดงว่าลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเงินที่ได้รับ เรียกว่านายจ้างจ่ายแบบ Over Paid คือจ่ายให้มากเกินไปในขณะที่สามารถหาคนที่ทำงานแบบเดียวกันได้ที่ราคา Midpoint หรือต่ำกว่านี้มาทำงานนี้ได้ครับ และยังทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (Staff Cost) สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย

จึงเป็นข้อคิดว่าหากพนักงานเงินเดือนอยู่แถว ๆ Midpoint ก็ควรจะต้องแสดงความสามารถเพื่อให้ตัวเองก้าวหน้าเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งไปได้แล้ว เพราะยิ่งทำงานไปนาน ๆ แล้วยังไม่ก้าวหน้าตำแหน่งก็ยังคงเดิม หน้าที่ความรับผิดชอบก็ยังเหมือนเดิม เงินเดือนก็จะตันในที่สุด ซึ่งในกรณีนาย A ตามตัวอย่างข้างต้นก็ทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือนในระดับพนักงานบัญชีอยู่แล้ว และได้รับเงินเดือนเกินกว่าผลงานมานานแล้ว ซึ่งอาจจะเนื่องมากจากทำงานมานานเงินเดือนก็เลยได้ขึ้นมาเรื่อย ๆ

ดังนั้นจะเรียกว่านาย A ได้รับการเลื่อนตำแหน่งช้าไปหน่อยก็ได้จึงทำให้เมื่อเลื่อนสูงขึ้นไปเงินเดือนก็เกือบ ๆ จะตันเสียแล้ว องค์กรส่วนใหญ่จึงต้องมีหลักเกณฑ์ตามข้อ 3 ที่ผมบอกมาแล้วยังไงล่ะครับ


................................................
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
081-846-2525