วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ควรทำอย่างไร....เมื่อพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน ?

            ขึ้นต้นด้วยหัวเรื่องแบบนี้ผมเชื่อว่าคงจะตรงกับใจของท่านผู้อ่านอีกหลาย ๆ คนที่เคยมีประสบการณ์กับพนักงานทดลองงานกันมาแล้วนะครับ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกองค์กรก็ย่อมจะต้องมีการรับคนเข้ามาทำงานกันอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่เหมือนกันแทบจะทุกองค์กรก็คือ การทดลองงาน สำหรับพนักงาน ใหม่ ที่เข้ามาทำงานกับองค์กร ซึ่งผมดู ๆ แล้วจะว่าคล้ายกับการ รับน้อง ตอนสมัยที่เราเรียนหนังสืออยู่ก็คล้ายนะครับ คือกว่าจะมีพิธีรับน้องก็ต้องมีการประชุมเชียร์ มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดูว่าน้องใหม่จะไปกันได้ด้วยดีกับสถาบันแห่งนั้น ๆ หรือไม่ เมื่อผ่านการทดสอบแล้วจึงมีพิธีรับน้องกันอย่างอบอุ่น แต่การรับน้องใหม่จะต่างจากการทดลองงานก็คือน้องใหม่ทั้งหมดก็จะได้รับการยอมรับเข้ามาอยู่ในสถาบันการศึกษาในที่สุด ในขณะที่พนักงานทดลองงานอาจจะมีบางส่วนที่ ไม่ผ่าน การทดลองงานและจะต้องออกจากองค์กรนั้นไปในที่สุด

ระยะเวลาทดลองงาน

            โดยทั่วไปพนักงานทดลองงานมักจะมีเวลาทดลองงานกันตามกฎหมายแรงงานก็คือไม่เกิน 120 วัน เพราะเมื่อครบ 120 วันแล้วหากองค์กรจะเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลตามมาตรา 119 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ปีพ.ศ.2541 แล้วล่ะก็ องค์กรจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงาน (ตามมาตรา 118) ซึ่งหากท่านที่สงสัยว่าแล้วมาตรา 118 หรือ 119 เป็นอย่างไรท่านก็ไปดาวน์โหลดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานปี 2541 ได้ที่ www.mol.go.th ได้นะครับ หรือไปถามจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลของท่านก็ได้ครับ เพราะเขาควรจะต้องรู้เรื่องนี้ดี

การประเมินผลก่อนพ้นทดลองงาน...มีผลกระทบอะไรบ้าง ?

            โดยทั่วไปเมื่อพนักงานใหม่ทำงานไปสักระยะหนึ่งก็จะมีการส่งใบประเมินผลการปฏิบัติงานให้กับหัวหน้างานทำการประเมินผลการทำงานของพนักงานทดลองงาน ซึ่งมักจะพบว่าจะทำการประเมินผลกันในช่วงใกล้ ๆ จะครบวันที่ร้อยยี่สิบเสียเป็นส่วนใหญ่

โดยองค์กรที่ปฏิบัติเช่นนั้นอาจจะไม่ทราบว่า กรณีที่พนักงานไม่ผ่านทดลองงานแล้วจะมีผลกระทบใดบ้าง ?

            ในกรณีที่พนักงานผ่านทดลองงานก็ไม่มีปัญหาใด ๆ หรอกครับ อันนี้จบ !

            แต่ถ้าหากว่าพนักงานนั้นไม่ผ่านทดลองงาน แล้วไปแจ้งกับตัวพนักงานในวันที่ 120 ว่า นี่น้องจ๋า....พี่ประเมินผลการทำงานของน้องในช่วงทดลองงานแล้วพี่เห็นว่าน้องยังทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้ พี่ว่าพรุ่งนี้น้องคงไม่ต้องมาทำงานแล้วล่ะนะ....ไปหางานใหม่ก็แล้วกัน ฯลฯ

            ในกรณีที่พนักงานทดลองงานรายนี้ยอมเขียน ใบลาออก ก็จบเหมือนกันครับ ไม่มีปัญหาใด ๆ

            แต่ถ้าพนักงานรายนี้ไม่ยอมเขียนใบลาออกล่ะ ? แล้วแถมบอกมาอีกด้วยว่า ตกลงครับพี่ ถ้าพี่ประเมินว่าผมไม่ผ่านทดลองงานก็ไม่เป็นไร พี่ช่วยทำหนังสือเลิกจ้างด้วยสาเหตุที่ผมไม่ผ่านทดลองงานให้ผมเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึกสักฉบับสิครับ....

            คราวนี้ก็จะเป็นเรื่องแล้วนะครับ !

            เพราะการไม่ผ่านทดลองงานดังกล่าวจะถือว่าเป็นการ เลิกจ้าง แทนแล้วครับ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานปี 2541 (มาตรา 118) บอกไว้ชัดเจนว่า....

          ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

            ยังไม่รวมถึงการที่บริษัทจะต้องจ่าย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า อีก 1 เดือนต่างหากนะครับ !

            คราวนี้ท่านพอจะเห็นผลกระทบแล้วหรือยังครับว่าบริษัทจะเกิดความเสียหายขึ้นอย่างน้อยก็เงินเดือนจำนวน 2 เดือนที่จะต้องจ่ายให้กับพนักงานทดลองงานคนนี้เพราะเหตุของการเลิกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านทดลองงานแล้วนะครับ

ควรจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี ?

            ผมเชื่อว่าหลายท่านเมื่อเพิ่งจะทราบปัญหาที่ไม่เคยทราบมาก่อนอย่างนี้แล้วคงจะเกิดคำถามข้างต้นจริงไหมครับ ?

            ใจเย็น ๆ ครับ ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไขเสมอ ดังนั้น เมื่อองค์กรของท่านมีพนักงานทดลองงานที่ทำงานไม่ตามตามมาตรฐานของงานที่กำหนดไว้ควรจะมีวิธีปฏิบัติดังนี้

1.      เมื่อพนักงานทดลองงานทำงานไปแล้วประมาณ 2 เดือน (หรือ 60 วัน) ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรส่งใบประเมินผลการปฏิบัติงานให้กับผู้บังคับบัญชา (Line Manager) ของพนักงานทดลองงานประเมินได้แล้วครับ ไม่ต้องรอให้ครบหรือใกล้ ๆ จะครบ 120 วันหรอกครับ เพราะมันจะเสี่ยงเกินไปที่จะเกิดปัญหาอย่างที่ผมเล่ามาให้ฟังข้างต้นแล้ว

คราวนี้ก็อาจจะมีคำถามจากบางคนว่า อ้าว ! ก็เพิ่งจะทำงานได้สองเดือนเองจะประเมินกันแล้วหรือ ?” คำตอบคือ ประเมินได้ครับ ก็ทำงานด้วยกันมาแล้วตั้ง 2 เดือน หากหัวหน้างานเอาใจใส่ติดตามดูแลพนักงานทดลองงานแล้วย่อมเพียงพอแล้วล่ะครับว่าเขาจะทำงานไปกับเราได้หรือไม่

ในกรณีที่ไม่แน่ใจผมให้ยืดการประเมินผลไปเป็นสัก 2 เดือนครึ่งก็ได้ คือก่อนจะครบ 90 วันของการทดลองงาน ท่านควรจะต้องประเมินกันแล้วนะครับ


2.      ในกรณีพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน ให้ผู้บังคับบัญชาเชิญพนักงานรายนั้นมาพบ (ควรจะเป็นห้องเฉพาะเช่นห้องประชุม เพื่อไม่ให้พนักงานเสียหน้าหรืออับอายคนอื่นนะครับ) แล้วแจ้งผลการไม่ผ่านทดลองงานด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ พร้อมทั้งให้กำลังใจกับพนักงานว่าแม้จะไม่ผ่านทดลองงานกับบริษัทนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีความสามารถหรือเป็นความล้มเหลวนะ แต่เขาอาจจะมีความเหมาะสมกับลักษณะงานอย่างอื่น หรือองค์กรธุรกิจแบบอื่นที่ไม่ใช่แบบนี้ก็เป็นได้ เรียกว่าพูดคุยกันให้จากกันด้วยดีครับ

3.      โดยทั่วไปจากประสบการณ์ที่ผมพบว่า เมื่อพนักงานทดลองงานได้รับทราบผลว่าไม่ผ่านทดลองงานแล้วมักจะเขียนใบลาออก และมีผลในวันรุ่งขึ้นเลย ในกรณีนี้ท่านก็ควรปล่อยเขาไปนะครับ เพราะต้องเข้าใจว่าตัวพนักงานเองก็คงไม่อยากจะเข้ามาทำงานแล้ว

แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันเป็นส่วนน้อยที่ขอเวลาทำงานอีกสักระยะหนึ่งเพื่อหางานใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ก็อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้างานแล้วล่ะครับว่าจะยอมหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้แหละครับที่ผมมีความเห็นตามข้อ 1 ว่าเราควรจะมีการประเมินผลและแจ้งผลหลังจากพนักงานทำงานไปแล้ว 2 ถึง 2 เดือนครึ่ง เพราะหากพนักงานขอทำงานไปอีกสักระยะเพื่อหางานใหม่แล้วบริษัทอนุญาต อย่างไรก็รวมแล้วไม่เกิน 120 วันไงล่ะครับ !

4.      อย่างไรก็ตามทางที่ดีที่สุดคือการให้พนักงานทดลองงานเขียนใบลาออกนะครับ แต่ถ้าพนักงานทดลองงานบอกว่าต้องการให้บริษัททำหนังสือเลิกจ้าง (ซึ่งกรณีนี้จะพบน้อยมาก) ก็คงจะต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจว่า ถ้าบริษัททำหนังสือเลิกจ้างเพราะสาเหตุของการทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานของบริษัทจึงไม่ผ่านการทดลองงานนั้น จะทำให้เขาเสียประวัติการทำงานได้นะ หากมีบริษัทที่เขาไปสมัครงานต่อไปสอบถามประวัติมา ดังนั้น หากเขาเขียนใบลาออกไปจะไม่ทำให้ประวัติการทำงานของเขาเสียจะดีกว่าหรือไม่ แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่ากรณีนี้มีน้อยครับ

5.      กรณีที่บริษัทจำเป็นจะต้องทำหนังสือเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานก็จะต้องระบุสาเหตุของการเลิกจ้างว่าเพราะไม่ผ่านทดลองงานให้ชัดเจน และบอกพนักงานรายนั้น ๆ ทราบเป็นหนังสือก่อนจะถึง หรือในวันจ่ายเงินเดือน เพื่อให้การเลิกจ้างนั้นมีผลในงวดถัดไป

     เช่น  สมมุติบริษัทของท่านจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละครั้งในทุกวันที่ 28 ของเดือน

      สมมุติว่าท่านต้องการจะแจ้งเลิกจ้างให้มีผลในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป ท่านก็ต้องแจ้งเลิกจ้าง (เป็นหนังสือเลิกจ้าง) ภายในวันที่ 28 ของเดือนนี้ (สมมุติเป็นเดือนพฤษภาคม) เพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในวันที่ 28 ของเดือนถัดไป (คือ 28 มิถุนายน) ซึ่งเมื่อยืนหนังสือเลิกจ้างให้พนักงานทราบวันที่ 28 พฤษภาคม แล้ววันรุ่งขึ้น (คือวันที่ 29 พฤษภาคม) พนักงานรายนี้ก็ไม่ต้องมาทำงาน (เพราะถูกเลิกจ้าง) ดังนั้นบริษัทก็ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไป 1 เดือน

             แต่ถ้าพนักงานทดลองงานรายนี้ทำงานมาแล้วตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป แล้วบริษัทจะเลิกจ้างโดยการทำหนังสือเลิกจ้าง บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (คือ 30 วัน) ตามมาตรา 118 ที่ผมบอกมาแล้วข้างต้นเพิ่มอีกด้วยนะครับ


……………………………………
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
081-846-2525