วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ใบสมัครงานบอกอะไรให้กรรมการสัมภาษณ์บ้าง ?

บทนำ

            การสัมภาษณ์งานนั้นนับว่าเป็นปราการด่านสุดท้ายขององค์กรที่จะให้ผู้บริหารได้ดูตัว และพูดคุยกับผู้สมัครงานก่อนที่จะนำผลจากการพูดคุยหรือสัมภาษณ์มาประมวลเพื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผู้สมัครงานในตำแหน่งเดียวกันว่าองค์กรจะเลือกใครเข้าทำงาน

            จากประสบการณ์ในการสัมภาษณ์งานของผมพบว่า กรรมการสัมภาษณ์ (ส่วนใหญ่) มักจะเข้ามาในห้องสัมภาษณ์แบบตัวเปล่า ถึงแม้ว่าฝ่ายบุคคลจะส่งใบสมัคร หรือประวัติการทำงาน (Resume) ของผู้สมัครงานให้กรรมการสัมภาษณ์ได้ดูก่อนแล้วก็ตาม

 แต่กรรมการสัมภาษณ์มักจะบอกว่าไม่มีเวลาที่จะอ่านใบสมัครหรือ Resume เพราะงานยุ่ง ! แล้วก็มักจะถือใบสมัครเข้ามาในห้องสัมภาษณ์และอ่านใบสมัครไปพร้อม ๆ กับการสัมภาษณ์ทำให้ไม่มีสมาธิอยู่ที่ผู้สมัครงานเพราะมัวแต่อ่านใบสมัครงานอยู่

วันนี้เราลองมาสำรวจใบสมัครงานกันดูไหมครับ  แล้วท่านจะพบว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้ท่านรู้จักผู้สมัครงานได้ดีขึ้น และยังทำให้ท่านมีคำถามที่จะช่วยให้การสัมภาษณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

มีอะไรในใบสมัครงาน ?

            แม้ว่าใบสมัครงานจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กรก็ตาม แต่โดยจุดสำคัญ ๆ ของใบสมัครงานมักจะเหมือนกัน นั่นคือต้องการจะให้ผู้สมัครงานบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเองให้องค์กรให้มากที่สุด ซึ่งจุดสำคัญในใบสมัครที่กรรมการสัมภาษณ์ควรจะพิจารณาคือ

1.      รูปถ่ายของผู้สมัครงาน

2.      ชื่อ-นามสกุลผู้สมัครงาน

3.      ตำแหน่งงานที่สมัคร

4.      อัตราเงินเดือนที่ผู้สมัครคาดหวัง

5.      ประวัติการศึกษา

6.      ประวัติการทำงาน

 บทสรุป

            นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนในใบสมัครงานที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างให้ท่านพิจารณานี้คงจะพอทำให้ท่านเห็นความสำคัญของการเตรียมตัวก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ได้ชัดเจนขึ้นแล้วนะครับ

            จุดเล็ก ๆ ที่สำคัญนี่แหละครับที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กรของท่านตามมาในภายหลัง !

อย่าลืมว่าถ้าองค์กรไม่ให้ความสำคัญในการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานตั้งแต่ด่านแรกแล้ว ท่านก็จะได้คนที่มี Competency ไม่เหมาะสมกับงานเข้ามาร่วมงาน  และยังเป็นปัญหาในอนาคตที่ท่านจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอีกหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่คัดเลือกเข้ามา (ในกรณีที่ยังพอจะพัฒนาได้) หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้าง (ในกรณีที่ไม่สามารถพัฒนาได้) ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายในกรณีที่คนที่ท่านรับเข้ามาอาจเข้าไปสร้างความปั่นป่วนในองค์กรกับเพื่อนพนักงานที่ไม่อาจจะประเมินความเสียหายล่วงหน้าได้

บทความนี้คงพอจะจุดประกายอะไรบางอย่างให้กับท่านได้แล้วใช่ไหมครับ ??



………………………………………………….