วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567

เมื่อเลิกจ้างทำไมถึงต้องจ่ายค่าชดเชย

             ผมได้ไปอ่านกระทู้หนึ่งในเว็บไซด์ดังที่มีคนเข้าไปตั้งคำถามว่าทำไมบริษัทถึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานเมื่อจะเลิกจ้างด้วยล่ะ ในเมื่อบริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือนจ่ายโบนัสให้เมื่อบริษัทมีกำไรอยู่แล้วนี่นา

เมื่อบริษัทขาดทุนไปไม่รอดปิดกิจการจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าชดเชยให้ล่ะเพราะบริษัทเองก็ไม่ได้อยากจะขาดทุนซักหน่อย แถมพนักงานเองก็จะรู้สึกว่าบริษัทจะขาดทุนก็เป็นเรื่องของบริษัท แต่ต้องเอาเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้ฉันเสียก่อนสิ

พนักงานเองก็ควรจะต้องรู้ว่าบริษัทขาดทุนอยู่จึงน่าจะเตรียมตัวหางานใหม่ได้แล้วไม่ต้องมารอให้บริษัทเลิกจ้าง

            ผมมีความเห็น (ส่วนตัว) อย่างนี้ครับ

1.      ถ้าไม่ใช่บริษัทมหาชนที่มีการทำบัญชีอย่างโปร่งใสเปิดเผย ฝ่ายบริหารคงไม่เอางบการเงินของบริษัทมาแจงให้พนักงานทุกคนดูหรอกครับว่าสถานการณ์ด้านการเงินที่แท้จริงตอนนี้ของบริษัทเป็นยังไงบ้าง เรื่องพวกนี้จึงมักรู้กันเฉพาะหุ้นส่วนหรือฝ่ายบริหารด้วยกันเท่านั้น

2.      การมีกฎหมายแรงงานมาตรา 118 บังคับเรื่องการจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานก็เพื่อป้องกันนายจ้างที่จะหาเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง เช่น ถ้า MD ไม่ชอบหน้าใครก็ไล่คน ๆ นั้นออกได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยใด ๆ (อันนี้เป็นการเลิกจ้างเฉพาะตัวบุคคลด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามนะครับ)

หรือ MD คิด (เอาเอง) ว่าแผนกนี้ไม่น่าจะมีอีกต่อไปแล้วอยากจะปิดแผนกนี้ ก็เลยประกาศปิดแผนกซะแล้วเลิกจ้างคนในแผนกทั้งหมด 5 คนออก โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ

ถามว่าถ้ากฎหมายแรงงานไม่มีการกำหนดค่าชดเชยเอาไว้ คนที่เป็นลูกจ้างต้องตกงานกระทันหันแบบนี้จะเสียเปรียบไหมครับ ?

3.      คราวนี้ลองมาคิดในแง่ของคนที่เป็นพนักงานบ้างว่าปกติทุกวันก็มาทำงานให้บริษัท ทำงานด้วยความรับผิดชอบตามหน้าที่ของตัวเอง ก็ได้รับเงินเดือนทุกเดือน (รวมถึงเงินอื่น ๆ เช่นโบนัส) เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยสำหรับตัวเองและครอบครัว มีภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนลูก ฯลฯ 

                  แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีประกาศของบริษัทว่าจะเลิกจ้างแบบกระทันหันทันที เขาจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายได้ทันล่ะครับ ครอบครัวของเขาจะเดือดร้อนแค่ไหน

ถ้าคิดแบบใจเขา-ใจเราเชื่อว่าจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดีขึ้น

4.      ขนาดมีการกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานก็ยังเจอบ่อยครั้งว่า นายจ้างหลายแห่งเบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยอ้างว่าไม่มีเงินจะจ่าย หรือบางบริษัทก็จ่ายค่าชดเชยให้ไม่ครบ (อยากได้ลูกจ้างก็ต้องไปฟ้องศาลเอาเอง) อีกต่างหาก

ยิ่งถ้าไม่มีการบังคับให้จ่ายค่าชดเชยแล้ว ผมเชื่อว่าลูกจ้างยิ่งจะถูกเอาเปรียบโดยถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้นนะครับ

5.      ผมมักจะเปรียบเทียบว่าการที่บริษัทรับคนเข้าทำงานก็เหมือนกับการตัดสินใจแต่งงานแหละครับ สิ่งที่เหมือนกันระหว่างการตัดสินใจแต่งงานกับการตัดสินใจทำงานด้วยกันก็คือทั้งสองฝ่าย (นายจ้างและลูกจ้าง) หวังที่จะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว

คงไม่มีใครอยากจะแต่งงานวันนี้แล้วอีกสักปีค่อยเลิกกันแล้วหาคนใหม่ บริษัทก็เช่นเดียวกันจริงไหมครับ ?

แต่เมื่อใช้ชีวิตร่วมกันมาถึงระยะหนึ่งแล้วเกิดความจำเป็นหรือเกิดเหตุใด ๆ ที่ไม่สามารถจะไปต่อกันได้จริง ๆ แล้วถึงจุดที่จะต้องเลิกรากัน บริษัท (ที่มีสถานะเหนือกว่าเพราะเป็นนายจ้าง) ก็ควรจะต้องดูแลรับผิดชอบพนักงาน (ซึ่งเป็นลูกจ้าง) เยียวยาในเรื่องค่าชดเชยไประยะหนึ่งไหมล่ะครับ

เพราะการไปแจ้งเลิกจ้างแบบกระทันหันเป็นการตัดสินใจของบริษัทนะครับ ไม่ใช่การตัดสินใจของพนักงาน

ทั้งหมดนี่แหละครับเป็นความเห็น (ส่วนตัว) ของผมว่าเมื่อบริษัทเลิกจ้าง (กรณีที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง) ทำไมถึงควรจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงาน

           ปล.การเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ไม่รวมถึงการเลิกจ้างเนื่องจากพนักงานทำความผิดร้ายแรงตามม.119 ของกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ 6 ข้อนะครับ.

..................................