วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

ข้อความในหนังสือส่งให้หัวหน้าเซ็นผิดพลาด..ลูกน้องเท่านั้นที่ผิด ?

             ผมว่าชีวิตของคนทำงานที่เป็นลูกน้องก็มักจะถูกหัวหน้าสั่งให้ทำรายงาน หรือทำหนังสือออกจากหน่วยงานแล้วต้องส่งให้หัวหน้าตรวจทานความถูกต้องก่อนที่หัวหน้าจะเซ็นส่งเอกสารเหล่านั้นออกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันมาแล้วจริงไหมครับ

            ลูกน้องที่มีความละเอียดรอบคอบมีความรับผิดชอบกับงานที่ได้รับมอบหมายก็ต้องตรวจทานความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดก่อนจะส่งให้หัวหน้าเซ็นเป็นธรรมดา

            ถ้าใครเป็นคนที่ทำงานได้แม่นตรง ละเอียดรอบคอบ ไม่ผิดพลาดก็แน่นอนว่าหัวหน้าจะไว้วางใจจนบางครั้ง (หรือหลายครั้ง) แทบไม่ต้องมาตรวจเอกสารซ้ำเลย

            ในขณะที่ถ้าลูกน้องไม่ตรวจสอบเอกสารให้ดี พิมพ์ข้อความผิดบ่อย

เช่น แทนที่จะใช้ข้อความว่า “....บริษัทไม่สนับสนุนพนักงานที่ทุจริต...” เป็น “....บริษัทไม่สนับสนุนพนักงานที่สุจริต....”

            หรือ “....ให้พนักงานยื่นใบลากิจล่วงหน้า 3 วัน....” เป็น “ให้พนักงานยื่นใบลาคิดล่วงหน้า 3 วัน....”

            แล้วหัวหน้าก็ไม่ตรวจทานให้ดีแล้วก็เซ็นชื่อลงไปในหนังสือออกจากหน่วยงาน พอมีเสียงทักท้วงมาจากแผนกต่าง ๆ ว่าข้อความในหนังสือออกไม่ถูกต้อง ก็แน่นอนครับว่าหัวหน้าต้องเรียกลูกน้องที่ทำผิดพลาดมาตำหนิ

            ผมเคยเห็นสไตล์การตำหนิลูกน้องของหัวหน้าหลายคนมาก็ไม่น้อย มีตั้งแต่ตำหนิแบบเปรย ๆ ไปจนถึงการด่าลูกน้องเสียงดัง (มาก) ด้วยอารมณ์ชนิดที่ผู้คนในแถว ๆ โต๊ะทำงานหัวหน้าคนนั้นหันมามองกันเป็นตาเดียวเพราะบรรยากาศเหมือนตลาดแตก

          ถามว่าเมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาดหัวหน้าควรตำหนิไหม ก็ตอบว่า “ควร” ครับ

            ไม่ใช่เมื่อลูกน้องทำผิดแล้วหัวหน้าก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่กล้าตำหนิเพราะกลัวลูกน้องจะเคืองจะไม่รัก ถ้าเป็นอย่างงี้ก็ไม่ควรเป็นหัวหน้าคนเหมือนกัน

            แต่ก่อนที่จะตำหนิลูกน้อง หัวหน้าลองกลับมาตั้งสติใจร่ม ๆ คิดสักนิดก่อนดีไหมครับ แทนที่จะ Take action ในตอนที่กำลังของขึ้นแบบขาดสติ

            ถามตัวเองให้ดีว่างานเอกสารที่ลูกน้องเตรียมมาที่ผิดพลาดน่ะเป็นความผิดพลาดของลูกน้องใช่ไหม ?

            ก็ต้องตอบว่า “ใช่”

            แล้วตัวเราที่เป็นหัวหน้าที่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องเป็นด่านสุดท้ายก่อนที่จะเซ็นชื่อลงไปในเอกสารเหล่านั้นล่ะ เราตรวจดีแล้วหรือยัง ?

            ถ้าคิดว่าลูกน้องต้องเป็นทั้งคนทำและคนตรวจให้จบครบในคนเดียวกัน งั้นจะมีหัวหน้าเอาไว้ตรวจและเซ็นทำไมกันล่ะครับ หัวหน้าเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดนี้ด้วยหรือเปล่า ?

            ผมเชื่อว่าคงจะมีหัวหน้าบางคนมีข้ออ้างว่า “ก็พี่งานยุ่งมีเอกสารให้เซ็นตั้งเยอะแยะจะเอาเวลาที่ไหนมาตรวจได้หมด คุณก็ต้องตรวจให้ดีก่อนจะส่งมาให้พี่เซ็นสิ”

            ถ้าบอกมาแบบนี้ลูกน้องก็คงจะตอบ (ในใจ) ว่า “แล้วจะมีหัวหน้าไปเพื่อ....”

            ข้อคิดของเรื่องนี้ก็คือ....

          ลูกน้องย่อมต้องมีความรับผิดชอบ (Responsibility) ในงานที่ตัวเองทำ

          แต่หัวหน้าจะปฏิเสธสำนึกร่วมในความรับผิดชอบ (Accountability) ไปไม่ได้

            เพราะ Accountability เป็นเรื่องจำเป็นที่คนเป็นผู้นำที่ดีทุกคนต้องมีครับ

            เมื่อลูกน้องทำผิด หัวหน้าต้องหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ

            ในขณะเดียวกันก็ต้องกลับมาคิดแก้ปัญหาของตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดนี้ด้วยเช่นกัน