วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การเลิกจ้างจะใช้วิธีบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้

            ถ้าจะถามว่าควรใช้วิธีไหนดี ?

ตามมาตรา 17 บอกไว้ว่า “....นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้

แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน.........การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้....”

จากข้อกฎหมายข้างต้นผมขออธิบายโดยยกตัวอย่างเพื่อให้ท่านเข้าใจง่ายขึ้นคือ....

สมมุติว่าบริษัท A จะบอกเลิกจ้างนายเฉื่อย เพราะนายเฉื่อยทำงานไม่ดีขาดความรับผิดชอบ งานผิดพลาดและเกิดปัญหาอยู่เป็นประจำโดยหัวหน้าก็เคยพูดคุยกับนายเฉื่อยมาหลายครั้งหลายหนให้นายเฉื่อยปรับปรุงตัวซึ่งทุกครั้งแกก็รับปากจะปรับปรุงตัว แต่พอเวลาผ่านไปการทำงานของนายเฉื่อยก็ยังไม่ดีขึ้น

บริษัท A  ก็เลยทำหนังสือบอกเลิกจ้างนายเฉื่อยโดยระบุสาเหตุการเลิกจ้างคือนายเฉื่อยขาดความรับผิดชอบในงาน ทำงานผิดพลาดและเกิดปัญหาอะไรบ้างจนบริษัทจำเป็นต้องเลิกจ้าง ฯลฯ

ซึ่งหนังสือแจ้งเลิกจ้างนี้บริษัทควรจะต้องแจ้งโดยยื่นหนังสือเลิกจ้างนี้ให้กับนายเฉื่อยในวันที่จ่ายค่าจ้าง (ผมสมมุติว่าบริษัท A มีรอบการจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือนนะครับ) ตามมาตรา 17 ข้างต้น

ดังนั้นในกรณีนี้บริษัท A ก็ควรแจ้งเลิกจ้างนายเฉื่อยพร้อมทั้งยื่นหนังสือเลิกจ้างให้กับนายเฉื่อยในวันที่จ่ายค่าจ้างสมมุติว่าเป็นวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อให้มีผลการเลิกจ้างคือวันที่ 31 กรกฎาคม

ดังนั้นนายเฉื่อยจะต้องมาทำงานอีก 1 เดือนคือ 1-31 กรกฎาคม แล้วเมื่อถึงวันที่ 1 สิงหาคมนายเฉื่อยก็ไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไปโดยบริษัท A ก็จะต้องจ่ายค่าจ้างให้นายเฉื่อยในเดือนกรกฎาคมเต็มเดือน

ที่ผมบอกมาอย่างนี้แหละครับที่เรียกว่า “การบอกกล่าวล่วงหน้า”

แต่ท่านลองคิดดูแบบใจเขาใจเรานะครับว่าถ้าเราเป็นนายเฉื่อย พอบริษัทแจ้งเลิกจ้างแบบนี้แล้วให้เวลาเรามาทำงานอีก 1 เดือนน่ะ เราอยากจะมาทำงานอีกไหม ?

ดังนั้น บริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธี “จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” คือบริษัท A แจ้งเลิกจ้างและยื่นหนังสือเลิกจ้างให้นายเฉื่อย (ในวันที่ 30 มิถุนายน) แล้ว รุ่งขึ้นวันที่ 1 กรกฎาคม ก็จะบอกนายเฉื่อยว่าไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป

โดยบริษัทจะจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายเฉื่อยไปล่วงหน้าไปเลย 1 เดือนและให้นายเฉื่อยออกจากงานทันที (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไปไม่ต้องมาทำงาน) ได้ตามมาตรา 17 ข้างต้น

งั้นเราควรใช้วิธีบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าดีล่ะ ?

ผู้บริหารบางบริษัทยังมีแนวความคิดที่ว่าเมื่อบริษัทจ่ายค่าจ้างให้พนักงานแล้ว ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าจ้างคือพนักงานจะต้องทำงานให้กับบริษัทจนวันสุดท้ายที่บริษัทจ่ายค่าจ้างให้

แต่อาจจะลืมคิดถึงหลัก “ใจเขา-ใจเรา” ว่าถ้าเราเป็นพนักงานที่ถูกบริษัทแจ้งว่าจะเลิกจ้างน่ะเรายังอยากจะมาทำงานที่บริษัทแห่งนี้ต่อไปอีกไหม ?

ดังนั้น ผู้บริหารที่มีแนวคิดที่จะใช้พนักงานที่ถูกบอกเลิกจ้างให้คุ้มค่าจ้างข้างต้นก็จะใช้วิธี “บอกกล่าวล่วงหน้า” แล้วมักจะต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาของพนักงานที่ถูกแจ้งเลิกจ้างที่จะมาทำงานบ้าง ไม่มาบ้าง อ้างลาป่วยบ้าง ขอหยุดเพราะต้องไปทำธุระโน่นนี่สารพัด

ซ้ำร้ายพนักงานที่ถูกแจ้งเลิกจ้างบางรายอาจจะเอาข้อมูลสำคัญของบริษัทออกไป หรือวางยาอะไรให้เกิดความเสียหายกับบริษัทเพราะความคับแค้นใจ ฯลฯ

แล้วผู้บริหารก็จะมีคำถามต่อมาว่าจะออกหนังสือตักเตือนพนักงานที่ถูกแจ้งเลิกจ้างที่มีพฤติกรรมแบบนี้ได้หรือไม่ หรือบริษัทควรจะทำยังไงกับกรณีทำนองนี้ ฯลฯ

เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวังว่าท่านคงจะได้คำตอบแล้วนะครับว่าควรจะเลือกวิธีไหนดีกว่ากัน ?

                                ..................................