วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การเลิกจ้างต้องระบุเหตุผลในการเลิกจ้างด้วย ถ้าไม่ระบุเอาไว้จะนำมาอ้างภายหลังไม่ได้

           เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานด้านกฎหมายแรงงานสำคัญที่หลายบริษัทไม่ทราบ

แถม HR ในบริษัทนี้ก็ไม่ทราบว่าถ้าบริษัทต้องการจะเลิกจ้างพนักงานจะต้องระบุเหตุผลในการเลิกจ้างเอาไว้ในหนังสือเลิกจ้างด้วยตามมาตรา 17 ของกฎหมายแรงงาน

ม.17 วรรคสาม “....ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้....”

เคยมีหลายเคสที่หนังสือเลิกจ้างบอกแต่เพียงว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานเพราะ “ขาดความไว้วางใจ” แต่เหตุผลที่ระบุว่าขาดความไว้วางใจน่ะ มันกว้างมาก

ลองคิดดูสิครับว่าถ้าเป็นคนนอกบริษัทมาอ่านข้อความในหนังสือเลิกจ้างนี้แล้วจะรู้ไหมล่ะครับว่าบริษัทเลิกจ้างพนักงานรายนี้เพราะเหตุใด ทำไมถึงขาดความไว้วางใจ ?

เมื่อระบุสาเหตุแบบกว้างมาก ๆ อย่างนี้พอพนักงานไปฟ้องศาลแรงงาน ศาลท่านก็ต้องขอหนังสือเลิกจ้างไปอ่าน ก็ต้องมีคำถามเหมือนที่ผมบอกไปข้างต้นแหละครับ

ดังนั้น ถ้าไม่ระบุสาเหตุการเลิกจ้างให้ชัดเจนในหนังสือเลิกจ้าง ยิ่งถ้าหากเป็นการเลิกจ้างเพราะพนักงานทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ซึ่งบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า แต่บริษัทไม่ได้ระบุสาเหตุการเลิกจ้างให้ชัดเจนในหนังสือเลิกจ้าง โอกาสที่บริษัทจะแพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแหละครับ

เพราะตามมาตรา 17 ก็บอกไว้ชัดเจนแล้วว่าถ้านายจ้างไม่ระบุเหตุผลในการเลิกจ้างในหนังสือเลิกจ้าง แล้วจะมาอ้างภายหลัง (แม้เป็นข้อเท็จจริง) ก็จะนำมาอ้างไม่ได้แล้วล่ะครับ

ลองดูคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นตัวอย่างสิครับ

ฎ.5410/2544

“...เมื่อหนังสือเลิกจ้างมิได้ระบุเหตุตามมาตรา 119 ไว้ การที่นายจ้างยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเนื่องจากลูกจ้างหมิ่นประมาทนายจ้างอันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างจึงเป็นการยกเหตุตามมาตรา119 (1) ขึ้นอ้างในภายหลัง ต้องห้าม

ตามมาตรา 17 วรรคสาม....”

            เพราะฉะนั้น HR มืออาชีพจะต้องไม่ลืมระบุเหตุผลในการเลิกจ้างเอาไว้ในหนังสือเลิกจ้างทุกครั้งนะครับ


                                                  ...............................