วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

BARNUM EFFECT ทำไมหมอดูถึงแม่น ?

             “คุณเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองสูงกล้าทำกล้าตัดสินใจ แต่บางโอกาสคุณก็ยังลังเลและจำเป็นต้องขอความเห็นจากคนรอบข้างเพื่อช่วยการตัดสินใจของคุณ คุณเป็นชอบเข้าสังคมแต่บางครั้งคุณก็ต้องการความเป็นส่วนตัว....”

            คำทำนายของหมอดูมักจะเป็นในทำนองข้างต้น

            ไม่มีหมอดูคนไหนที่จะบอกให้ชัดเจนได้หรอกว่า “วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2575 เวลา 9.05 นาทีคุณจะเข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าสาวชื่อ.....................อยู่บ้านเลขที่...........................และคุณจะมีลูกคนแรกเป็นผู้หญิงชื่อ.........เกิดวันที่......เดือน.......พ.ศ.........ฯลฯ”

            หลักสำคัญคือคำทำนายมักจะเป็นแบบกว้าง ๆ มีบางคำหรือบางประโยคที่เมื่อเราฟังแล้ว เราจะคิดไปเองว่าตรงกับตัวของเรา แล้วเราก็จะบอกว่า “แม่น”

            Phineas Taylor Barnum (P.T.Barnum) นักแสดงมายากลและเจ้าของละครสัตว์เป็นผู้บอกว่า คำทำนายที่แม่น คือคำที่บอกไปแล้วไม่ต้องถูกทั้งหมดก็ได้ ขอแค่ให้มีส่วนที่เป็นสัจธรรมที่ใคร ๆ ก็คิดเข้าหาตัวเองได้ก็พอแล้ว

หรือควรจะต้องมีคำพูดแบบกลาง ๆ บางอย่างที่ใช้ได้กับทุกคน หรือ have a little something for everybody นั่นเองครับ

            นี่คือเคล็ดลับว่าทำไมหมอดูถึงทายแม่น

            จากหลักการนี้หมอดูถึงต้องทำให้คนรับคำทำนายเชื่อว่าเป็นคำทำนายเฉพาะตัวของเขา, เป็นคำทำนายแบบกลาง ๆ โดยให้ตีความเข้าตัวเอง

            เช่น..

            มีเรื่องเล่ากันมาว่าครั้งหนึ่งกษัตริย์จากดินแดนแห่งหนึ่งจะยกทัพไปรบกับประเทศคู่อริ เมื่อไปขอให้โหรหลวงทำนาย โหรหลวงก็ทำนายว่า..

          “การกรีฑาทัพไปรบในครั้งนี้จะทำให้อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งต้องล่มสลาย”

            กษัตริย์องค์นั้นก็มั่นใจว่าตัวเองชนะแหงแก๋ พอยกทัพไปรบกับประเทศคู่อริก็กลับแพ้ราบคาบแถมตัวเองยังตายในที่รบอีกต่างหาก!

            นี่คือตัวอย่างของ Barnum Effect คือการให้คำนายแบบกว้าง ๆ แล้วให้คนตีความเอาเอง

            บางครั้งเราอาจจะเรียก Barnum Effect ว่า Forer Effect เพราะ ในปี 1948 (พ.ศ.2491) Bertram R.Forer นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ทำการทดลองกับนักศึกษาจำนวน 39 คน โดยส่งคำทำนายบุคลิกภาพไปให้นักศึกษาแต่ละคนอ่านแล้วให้คะแนนว่าตรงกับบุคลิกภาพของตัวเองมากน้อยแค่ไหน

          ผลคือนักศึกษาให้คะแนนแบบวิเคราะห์บุคลิกภาพว่ามีความแม่นยำตรงกับบุคลิกภาพของตนเองโดยเฉลี่ย 4.26 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5.0

          ทั้ง ๆ ที่แบบสอบถามทั้งหมดมีข้อความอย่างเดียวกันทุกฉบับ!!

            แต่นักศึกษากลับคิดว่าแบบวิเคราะห์นี้สามารถวิเคราะห์บุคลิกภาพของตนองได้อย่างแม่นยำ

          เปรียบเหมือนการยิงปืนไปที่กระดาษเปล่าแผ่นใหญ่ ๆ สัก 1 แผ่น ถ้ากลุ่มกระสุนส่วนใหญ่อยู่ตรงไหนเราก็ไปเขียนวงกลมเอาไว้ตรงกลุ่มนั้นหลังจากที่ยิงปืนเสร็จ แล้วเราก็เอาไปอวดใคร ๆ ว่าเรายิงปืนแม่น

นั่นแหละครับคือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Barnum Effect หรือ Forer Effect

                                   ..........................