วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

รับคนที่ไม่ใช่..เสียหายมากกว่าที่คิดไว้


            ทุกวันนี้หลายองค์กรยังไม่เห็นความสำคัญของกระบวนการสรรหาคัดเลือกคนเข้ามาทำงานเท่าไหร่นัก
            สังเกตได้จากอะไร?

            จะมีองค์กรไหนบ้างที่จะมีกระบวนการในการทดสอบผู้สมัครงานว่ามีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งงานที่ต้องการ หรือมีการจัดอบรมให้ความรู้กับคนที่จะเป็นกรรมการสัมภาษณ์ได้เข้าใจเทคนิคการสัมภาษณ์อย่างที่ควรจะต้องรู้เพื่อให้มี “ทักษะ” ในการคัดเลือกคนที่ “ใช่” ได้มากที่สุด

          เพราะการสัมภาษณ์คือ “ทักษะ” คือการฝึกฝนจนชำนาญนะครับ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่อยู่ดี ๆ ก็งอกขึ้นมาได้เองตามตำแหน่งที่สูงขึ้น!!

            พอองค์กรไม่ให้ความสำคัญและไม่เคยให้ความรู้กับคนที่จะต้องไปทำหน้าที่สัมภาษณ์แล้วคิดว่าการสัมภาษณ์คือการพูดคุยซักถามทั่วไป ถูกใจใครก็เลือกคนนั้น

            ในที่สุดก็มักจะเกิดความผิดพลาดจากการใช้ความรู้สึกหรืออคติในการคัดเลือกคนในที่สุด!

            เรามาดูกันไหมครับว่าความเสียหายที่เกิดจากการตัดสินใจรับคนที่ไม่ใช่เข้ามาทำงานมีอะไรบ้าง?

1.        องค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณารับสมัครงาน เช่น   ค่าจัด Job Fair,  ค่าลงโฆษณารับสมัครงานตามสื่อต่าง ๆ เช่นสื่อสิ่งพิมพ์, สื่อออนไลน์ ฯลฯ ตรงนี้ HR สามารถตรวจสอบดูได้ว่าปีละกี่บาทสำหรับการลงโฆษณารับสมัครงาน

2.        ค่า Head Hunter ในบางตำแหน่งงานที่หายากก็จำเป็นต้องใช้บริการ Head Hunter เช็คได้เหมือนกันว่าในแต่ละปี องค์กรของเราใช้บริการ Head Hunter ไปเท่าไหร่

3.        ค่าพิมพ์ใบสมัครงานหรือค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ค่าซีร็อก ในกรณีที่ผู้สมัครส่งใบสมัครมาทางอีเมล์แล้ว HR จะต้อง Print out ไฟล์ต่าง ๆ ที่ผู้สมัครส่งมาซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในหมวด Stationary ของบริษัทปีละเท่าไหร่

4.        ค่าเดินทางหรือค่าย้ายสถานที่ทำงาน ในกรณีที่บางบริษัทอยู่ต่างจังหวัดและมีค่าใช้จ่ายจูงใจให้คนอยากมาทำงานกับเรา เช่น ค่าขนย้าย, ค่าหอพัก, ค่าพาหนะขนย้ายของ ฯลฯ ปีหนึ่งมีกี่คนและรวมเป็นเงินเท่าไหร่

5.        ค่าฝึกอบรม+ปฐมนิเทศ+ค่าใช้จ่ายในการสอนงาน

6.        เวลาที่ใช้ไปในการสัมภาษณ์ของผู้สัมภาษณ์คิดออกมาเป็นตัวเงินว่าใช้ไปกี่ชั่วโมง ๆ ละกี่บาท

            จากที่ผมบอกมาข้างต้นคือค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการสรรหาคัดเลือกพนักงานที่บริษัทจะต้องสูญเปล่าไปในกรณีที่เราคัดเลือกคนเข้ามาแล้วคน ๆ นั้นมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมแล้วลงท้ายด้วยการลาออก

          ลองคิดดูง่าย ๆ ก็เอาจำนวนค่าใช้จ่ายจากข้อ 1 ถึง 6 รวมกันแล้วหารด้วยจำนวนใบสมัครงานที่เราได้รับมาดูก่อนก็ได้ เราก็จะได้ข้อมูลว่าค่าใช้จ่ายต่อ 1 ใบสมัครเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่

            นี่คือต้นทุนในการหาคน 1 คนครับ!

            แล้วเอาจำนวนคนที่เรารับเข้ามาแล้วลาออกไปคูณดูสิครับท่านอาจจะพบว่าเรามีค่าใช้จ่ายสูญเปล่าในการสรรหาคัดเลือกแต่ละปีไปไม่น้อยเลยแหละ

            ยังไม่รวมคนที่ไม่เหมาะที่เกิดจากการคัดเลือกที่ผิดพลาดแล้วคน ๆ นั้นทำงานไปเรื่อย ๆ ระยะยาวแล้วทำงานไม่ดี ไม่รับผิดชอบงาน, มาสายเป็นประจำ, ทำงานผิดพลาดบ่อย, ทัศนคติแย่ ด่าผู้บริหารทุกวัน คอยแต่คิดเรียกร้องโน่นนี่ ก่อปัญหาปวดหัวให้ฝ่ายบริหารอยู่เป็นประจำ ฯลฯ

            เอาง่าย ๆ ก็แค่คน ๆ นั้นคอยโพสด่าองค์กรในสื่อออนไลน์ให้เสียชื่อเสียงอยู่บ่อย ๆ นี่ก็เกิดความเสียหายที่แก้ไขได้ยากแล้วจริงไหมครับ

          ถ้าเป็นแบบนี้ท่านคิดว่าองค์กรจะมีค่าใช้จ่ายในการตามแก้ไขความเสียหายเท่าไหร่ครับ?

            ทั้งหมดที่ผมบอกมานี้ก็เพื่ออยากให้ฝ่ายบริหารได้เห็นความสำคัญของการ “คัดเลือก” คนที่ “ใช่” ที่ไม่ใช่แค่การสัมภาษณ์และพูดคุยทั่ว ๆ ไปแล้วใช้ความรู้สึกแบบลางสังหรณ์หรือจิตสัมผัสรับคนเข้ามาทำงานแล้วก็ทำให้เกิดปัญหาต้องมาตามแก้กันเป็นดราม่าทั้งระยะสั้นและระยะยาวในอนาคตที่ล้วนแต่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายตามมาในภายหลัง

            องค์กรไหนจะชอบแก้ปัญหาแบบ Reactive คือเกิดปัญหาแล้วค่อยตามแก้ หรือจะหาทางป้องกันปัญหาเรื่องคนเอาไว้ล่วงหน้าแบบ Proactive คือหาคนที่ใช่ที่เหมาะเพื่อลดปัญหาคนในอนาคตและลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาลงก็ลองนำกลับไปคิดดูนะครับ
           
……………………………………