วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

การกำหนดกฎเกณฑ์ที่สร้างปัญหาให้กับตัวเอง เรื่องที่ 1 บริษัทกำหนดเกรดเฉลี่ยในการรับผู้สมัครที่จบใหม่เพื่อ....?


            ฝ่ายบริหารของบริษัท A กำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ว่าในกรณีที่บริษัทจะรับผู้สมัครงานจบใหม่เข้ามาทำงานเป็นพนักงานประจำ ผู้สมัครจะต้องจบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ย 2.50 ขึ้นไป ถ้าจบด้วยเกรดต่ำกว่านี้จะรับเป็นพนักงานชั่วคราวโดยทำสัญญาปีต่อปีไม่สามารถบรรจุเป็นพนักงานประจำได้


            บริษัทรับนางสาว B เข้ามาทำงานแต่เนื่องจากนางสาว B จบการศึกษาด้วยเกรด 2.40 บริษัทจึงต้องทำสัญญารับนางสาว B เข้ามาเป็นพนักงานชั่วคราวโดยทำสัญญาแบบปีต่อปี และมีเงื่อนไขว่าถ้าหากนางสาว B ทำงานดีเป็นที่น่าพอใจบริษัทจะต่อสัญญาไปคราวละ 1 ปี แต่ถ้านางสาว B ทำงานไม่ดีเมื่อไหร่บริษัทจะมีสิทธิไม่ต่อสัญญาจ้างและสามารถเลิกจ้างนางสาว B ได้โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น และนางสาว B สละสิทธิในการฟ้องร้องบริษัท

            เวลาผ่านไป 3 ปีเศษ นางสาว B ทำงานได้ดีมากจนเป็นที่รักของพี่ ๆ ในที่ทำงาน มีผลงานที่ดีเยี่ยม เป็นคนขยันมุ่งมั่นและรับผิดชอบในงานสูง นางสาว B คาดหวังว่าบริษัทอาจจะเห็นใจและมีข้อยกเว้นให้กับเธอและคงจะมีโอกาสได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ซึ่งพี่ ๆ ผู้บริหารของหน่วยงานก็พยายามทำเรื่องไปยังฝ่ายบริหารเพื่อขอให้ทบทวนนโยบายและบรรจุให้นางสาว B เป็นพนักงานประจำ

             แต่....ฝ่ายบริหารก็ยังยืนยันนโยบาย 2.50 อยู่เหมือนเดิมโดยให้เหตุผลว่าบริษัทต้องการคัดคุณภาพของผู้สมัครงานตามเกรดเฉลี่ย ถ้าไม่อย่างนั้นจะทำให้บริษัทได้คนที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน?

            เมื่อนางสาว B เห็นว่าคงไม่มีโอกาสจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำแน่แล้ว นางสาว B ก็เลยตัดสินใจลาออกไปในที่สุด

คำถามชวนคิด

1.      เกรดเฉลี่ยของผู้สมัครที่จบใหม่จะมีผลกับการทำงานจริงหรือไม่

2.      คุณภาพของคนทำงานวัดกันด้วยเกรดเฉลี่ยที่จบมาเท่านั้นหรือ, ฝ่ายบริหารมีข้อมูลหรือมีสถิติอะไรยืนยันตรรกะนี้บ้าง

3.      ถ้าคิดว่าเกรดเฉลี่ยมีผลกับการทำงานแล้วทำไมผู้บริหารถึงไม่กำหนดเกรดเฉลี่ยสำหรับผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานด้วยล่ะ

4.      คิดไหมว่าการมีนโยบายอย่างนี้ออกมาจะทำให้บริษัทพลาดโอกาสที่จะได้คนที่เก่งทำงานดีมีความสามารถ เพียงเพราะคน ๆ นั้นจบมาด้วยเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.50

5.      สัญญาจ้างที่รับนางสาว B เข้ามาเป็นพนักงานชั่วคราวโดยทำสัญญาแบบปีต่อปีและมีเงื่อนไขว่าถ้าปีไหนผลงานไม่ดี บริษัทมีสิทธิจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ นั้นถูกกฎหมายแรงงานไหมและจะใช้บังคับได้จริงหรือไม่

ผมเคยถามกรณีนี้กับ HR และ Line Manager ในห้องอบรมว่าถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้จะแก้ไขยังไงดี?

มีคนเสนอว่าถ้าฝ่ายบริหารยังไม่เปลี่ยนนโยบายก็จะแนะนำให้ผู้สมัครงานเขียนลาออกแล้วกลับมาสมัครใหม่ก็จะพ้นเงื่อนไขของฝ่ายบริหาร เพราะเงื่อนไขนี้ใช้สำหรับคนที่จบใหม่เท่านั้น!!

ส่วนผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วไม่ต้องใช้เงื่อนไขนี้?

            ผมมักจะเจอวิธีการแก้ปัญหาแบบศรีธนนชัยอย่างนี้ในหลาย ๆ ปัญหานะครับคือแทนที่จะแก้ปัญหาที่ตัวต้นเหตุกลับต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แถมทำให้พนักงานชั่วคราวคนนี้เสียสิทธิในเรื่องอายุงานที่จะต้องมานับกับใหม่อีก

            แถมถ้าฝ่ายบุคคลส่งเรื่องของนางสาว B ขึ้นไปให้ฝ่ายบริหารพิจารณาแล้วถ้าเกิดอนุมัติตามวิธีศรีธนนชัยแบบนี้ล่ะก็ผมว่ามันจะเป็นความย้อนแย้งในนโยบายอย่างมากเลยนะครับ ถามว่าเหตุผลที่ฝ่ายบริหารอนุมัติในการจ้างนางสาว B ครั้งใหม่คืออะไร ทำไมเกรดเฉลี่ย 2.50 ถึงไม่มีผลกับการบรรจุนางสาว B เป็นพนักงานประจำแล้วล่ะ

            ผมหวังว่านิทานเรื่องนี้คงจะทำให้ฝ่ายบริหารที่ยังมีนโยบายอะไรทำนองนี้ได้หันกลับมาทบทวนเหตุผลในการกำหนดนโยบายแบบนี้กันบ้างแล้วนะครับ

....................................