วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ถ้าทำโครงสร้างเงินเดือนไม่ให้มี Overlap ได้ไหม..ผลจะเป็นยังไง?


            การทำโครงสร้างเงินเดือนโดยทั่วไปมักจะต้องมีส่วนเหลื่อมของกระบอกเงินเดือนหรือที่เรียกกันว่ามี Overlap ดังรูป


           
            จากภาพโครงสร้างเงินเดือนที่มี Overlap นี้จะเป็นการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบทั่วไป คือจะมีส่วนเหลื่อมระหว่าง Max ของกระบอกเงินเดือนก่อนหน้า (30,000 บาท) กับ Min ของกระบอกเงินเดือนถัดไป (19,500 บาท)

            จากภาพนี้เราจะเห็นค่าของ Midpoint Progress ระหว่างกระบอกแรกกับกระบอกที่สองจะมีค่าเท่ากับ 30% (สูตรของ Midpoint Progress คือ Midpoint กระบอกที่สูงกว่า-Midpoint กระบอกที่ต่ำกว่า หาร Midpoint กระบอกที่ต่ำกว่า คูณ 100 ในกรณีนี้คือ (29,250-22,500)/22,500*100))

            ค่าของ Midpoint Progress จะบอกให้ทราบว่าถ้าหากมีการปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งนั้นจะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนสูงมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้าค่า Midpoint สูงก็มีแนวโน้มที่บริษัทจะต้องปรับเงินเดือนพนักงานเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงตามไปด้วย ซึ่งค่าปกติควรจะอยู่ในช่วงประมาณ 25-45% โดยในกรณีตัวอย่างข้างต้นก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ



            แต่จากภาพโครงสร้างเงินเดือนที่ไม่มี Overlap นี้เราจะเห็นได้ว่าระหว่างกระบอกเงินเดือนแรกกับกระบอกที่สองไม่มีส่วนเหลื่อมกันเลย เห็นได้จาก Max ของกระบอกแรก (30,000 บาท) เท่ากับ Min ของกระบอกถัดไป (เริ่มต้นกระบอกที่สอง 30,000 บาทเท่ากับ Max ของกระบอกแรก)

          จากภาพนี้จะเห็นว่าค่า Midpoint Progress ระหว่างกระบอกที่ 1 กับกระบอกที่ 2 คือ 100%

          แปลว่าถ้าหากมีการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานจากกระบอกที่ 1 ไปยังกระบอกที่ 2 บริษัทก็จะต้องมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงตามไปด้วย

            ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ เช่น สมมุติมีพนักงานที่อยู่ในกระบอกแรกเงินเดือนปัจจุบันคือ 25,000 บาท เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปในกระบอกที่ 2 เขาก็ควรจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนอย่างน้อยก็ต้องเท่ากับอัตราเริ่มต้นของกระบอกที่ 2 คือ 30,000 บาท ตามหลักของค่างาน (Job Value) และความรับผิดชอบ

            ก็เท่ากับพนักงานคนนี้จะต้องได้รับการปรับเงินเดือนเท่ากับ 20% (จาก 25,000 เป็น 30,000 บาท) ซึ่งก็จะต้องทำให้บริษัทมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งพนักงานสูงมาก

            ถ้าหากพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเงินเดือนน้อยกว่า 25,000 บาท ก็ยิ่งจะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งสูงมากขึ้นกว่านี้อีก!!

          ตรงนี้แหละครับคือคำตอบว่าถ้าทำโครงสร้างเงินเดือนไม่ให้มี Overlap ผลจะเป็นยังไง ผลก็คือจะทำให้บริษัทมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งพนักงานที่สูงมาก ๆ

            ดังนั้น ผมจึงยังไม่เคยเห็นบริษัทไหนทำโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่มี Overlap แต่ถ้าหากจะทำก็ไม่ผิดอะไรนะครับ แต่บอกได้เลยว่าบริษัทที่ทำต้อง “ป๋า” หรือรวยจริง ๆ แบบ “พร้อมเปย์” ให้พนักงานแบบจัดเต็ม

            แต่..เท่าที่ผมเคยคุยกับบริษัทญี่ปุ่นบางแห่งอาจจะมีการทำโครงสร้างเงินเดือนแบบกระบอกชนกระบอกโดยไม่มี Overlap ก็มีให้เห็นเหมือนกัน แต่เขาจะใช้ระบบอาวุโสในการเลื่อนตำแหน่ง คือถ้าตามกรณีตัวอย่างข้างต้นนั้นคนที่จะได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปใน Job Grade ถัดไปได้ ก็จะต้องมีเงินเดือนใกล้ ๆ หรือเท่ากับ 30,000 บาทเท่านั้น ถ้าใครที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 30,000 บาทลงไปก็จะยังไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไป

            การยึดระบบอาวุโสในการเลื่อนตำแหน่งเป็นหลักแบบนี้ยังคงมีอยู๋ในบริษัทญี่ปุ่นบางแห่งซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ถ้าพูดกันในเรื่องนี้ก็คงจะเป็นดราม่าที่คุยกันอีกยาวครับ

            แต่สำหรับบริษัทไทย ๆ บริษัทไหนมีนโยบายอย่างงี้ก็ลองบอกมาและเอาหลักฐานมาให้ผมดูเป็นบุญตาด้วยนะครับ :-)

……………………….