วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า..จ่ายยังไงถึงจะถูกต้อง

            “การเลิกจ้าง” คงไม่มีใครอยากได้ยินหรืออยากโดนนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเมื่อนายจ้างคิดว่าไม่สามารถจะทำงานร่วมกับลูกจ้างอีกต่อไปได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ต้องบอกเลิกจ้างกัน

            ในกรณีที่ลูกจ้างทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงาน (ไปหาอ่านในกูเกิ้ลนะครับว่ามีลักษณะความผิดอะไรบ้าง) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง เป็นต้น

            แต่ถ้าลูกจ้างทำความผิดในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 119 หรือบริษัทอยากเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้ทำอะไรผิด เช่น ผลการปฏิบัติงานไม่ดี, ทำงานไม่ได้ตาม KPIs, สุขภาพไม่ดีไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ, ดวงเป็นกาลกิณีกับหัวหน้า, เป็นส่วนเกินของบริษัทเพราะกำลังจะหาทาง Layoff เอาคนออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ อย่างนี้บริษัทจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

            ในเรื่องของค่าชดเชยนั้นก็จ่ายตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นไปตามอายุงานอยู่แล้ว (ไปหาอ่านรายละเอียดของมาตรา 118 ได้ในกูเกิ้ลเช่นเดียวกันนะครับ)

          ตัวที่มักจะมีปัญหาถามกันอยู่เสมอ ๆ คือ “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” นี่แหละครับว่าจ่ายยังไงถึงจะถูกต้อง ?

            หลายคนมักจะตอบว่า “จ่าย 1 เดือน” (คนส่วนใหญ่จะเข้าใจแบบนี้)

            คำตอบคือ “อาจจะถูกหรือผิด” ก็ได้ครับ

            ถ้างั้นคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ?

            มาตรา 17 ของกฎหมายแรงงานบอกไว้ว่า....

“....ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน....

....การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้....”

ผมเลยทำผังให้ท่านดูแบบง่าย ๆ ตามนี้ครับ
 


สมมุติว่าบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน (ตามภาพประกอบ) ถ้าบริษัทแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างวันที่ 30 มิย.โดยบอกว่าพรุ่งนี้ (คือวันที่ 1 กค.) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว

บริษัทก็ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไป 1 เดือนคือตั้งแต่ 1 กค. ถึง 31 กค.

ส่วนค่าจ้างในเดือนมิย.ก็ต้องจ่ายให้ลูกจ้างเต็มเดือนตามปกติอยู่แล้วนะครับ

เพราะตามมาตรา 17 ให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างหรือก่อนหน้านั้นเพื่อให้มีผลเลิกสัญญาจ้างเพื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในครั้งต่อไป

แต่ถ้าสมมุติว่าบริษัทไปแจ้งเลิกจ้างพลาดไปเพียง 1 วันคือแทนที่จะแจ้งวันที่ 30 มิย.แต่กลับไปแจ้งเลิกจ้างในวันที่ 1 กค.โดยบอกลูกจ้างว่าพรุ่งนี้ (2 กค.) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว

บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1-31 กค.(เต็มเดือน) และ 1-31 สค.(เต็มเดือน)

สรุปคือกรณีนี้บริษัทจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนครับ

เพราะถือหลักปฏิบัติตามมาตรา 17 คือเมื่อบริษัทแจ้งเลิกจ้างวันที่ 1 กค.(แจ้งหลังจากจ่ายค่าจ้างมาเพียงวันเดียว) ก็เสมือนกับไปแจ้งเลิกจ้างวันที่ 31 กค.ซึ่งเป็นการแจ้ง “ก่อนถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง” ในวันที่ 31 กค. พอแจ้งเลิกจ้าง 31 กค.ก็จะต้องมีผลการเลิกสัญญาจ้างในคราวถัดไปก็คือวันที่ 31 สค.

จึงทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างในเดือนกค.เต็มเดือนและนับรอบการจ่าย 31 กค.ถึง 31 สค.อีก 1 เดือน ก็เลยรวมเบ็ดเสร็จเป็น 2 เดือนครับ

ดังนั้นการจ่ายค่าตกใจหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอาจจะเป็น 1 เดือนหรือ 2 เดือนก็ได้ แล้วแต่ว่านายจ้างจะบอกกล่าวล่วงหน้าวันไหนครับ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าเราคงเข้าใจหลักการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตรงกันและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแล้วนะครับ

………………………………