วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คุยเฟื่องเรื่อง TALENT (ตอนที่ 3)


            ในตอนที่แล้วผมพูดถึงกระบวนการจัดการกับ Talent ที่ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนตั้งแต่การสรรหาคัดเลือก Talent, การพัฒนา Talent, การใช้งาน Talent และการธำรงรักษา Talent กันไปแล้ว ในตอนนี้เรามาดูกันต่อว่าปัญหาในการพัฒนา Talent ที่องค์กรต่าง ๆ เขาพบเจอน่ะมีอะไรบ้าง ดังนี้ครับ....

1.      ปัญหาในการพัฒนา Talent

ในเรื่องนี้เรามาคุยกันเรื่องของปัญหาในการพัฒนา Talent ในเรื่องหลัก ๆ ว่ามีปัญหาอะไรกันบ้างดังนี้ครับ

1.1  ปัญหาด้านนโยบาย แบ่งออกเป็น

1.1.1        นโยบายไม่ชัดเจน ขาดเป้าหมายหรือตัวบุคคลหรือหน่วยงานที่จะรับผิดชอบโครงการนี้ ดังนั้นถ้าจะทำโครงการนี้ก็แปลว่าฝ่ายบริหารระดับสูงเห็นความสำคัญจริง ๆ และเปิดไฟเขียวเดินหน้า กำหนดตัวผู้รับผิดชอบโครงการให้ชัดเจนไม่ใช่ปล่อยให้เป็นงานฝาก หรือเป็นโครงการแบบมือสมัครเล่นทำไปเป็นแฟชั่น

1.1.2         ขาดแผนงาน การกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายของโครงการอย่างชัดเจน คือไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จและเป้าหมายเพื่อให้มีการติดตามโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างนี้โครงการก็สะเปะสะปะไปตามเรื่องตามราวเหมือนนำเรือออกจากฝั่งโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะไปที่ไหนก็มีหวังหลงทางกลางทะเลนั่นแหละครับ

1.1.3        นโยบายไม่ต่อเนื่อง เช่น MD คนปัจจุบันสนับสนุนโครงการ Talent อย่างเต็มที่ แต่พอ MD คนปัจจุบันเกษียณหรือลาออกไป MD คนใหม่มาก็ไม่เห็นความสำคัญก็เลยไม่สนับสนุนเต็มที่เหมือนคนเก่า  แถมยังตัดงบประมาณออกอีกเพียบอย่างนี้ก็มีปัญหาแล้วล่ะครับ

1.2  ผู้บริหารระดับรอง ๆ ลงจาก MD มาไม่ให้ความร่วมมือ เช่น MD ให้ HR เป็นเจ้าของโครงการแต่หัวหน้าของ Talent ไม่ร่วมมือในการทำหน้าที่ Coach ให้กับ Talent แถมหัวหน้าบางคนยังอิจฉาริษยา Talent   แล้วใช้วาจาเป็นอาวุธคอยติเตียนถากถาง Talent อยู่บ่อย ๆ เมื่อฝ่ายบริหารรู้ว่ามีปัญหาทำนองนี้ก็ไม่ทำอะไรกับผู้บริหารที่ไม่ให้ความร่วมมืออย่างนี้โครงการนี้ก็ไปไม่รอดเหมือนกันนะครับ

1.3  ปัญหาในระหว่างการพัฒนา Talent ในเรื่องนี้ที่น่าสนใจมีดังนี้ครับ

1.3.1        การสรรหาคัดเลือก Talent มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ใช้เส้นสายดันลูกน้องที่ยังไม่ใช่ Talent ตัวจริงเข้ามาในโครงการ ซึ่งเรื่องนี้มักเกิดจากบางองค์กรขาดการทดสอบที่มีมาตรฐานในการคัดเลือก Talent ก็เลยใช้ดุลพินิจหรือใช้ความรู้สึกของผู้บังคับบัญชาในการเสนอชื่อลูกน้องคนโปรดเข้ามาเป็น Talent ทั้งที่ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ

1.3.2        ไม่มีมาตรการจัดการกับ Talent ที่มีปัญหาในระหว่างการพัฒนาอย่างชัดเจน เช่น Talent ที่ไม่เข้าอบรมแต่ฝากเพื่อนเซ็นชื่อแทนกันเพื่อไม่ให้เสียประวัติว่าขาดการอบรม, เมื่อ Talent ได้รับมอบหมายงานมาทำกลับเอางานนั้นไปให้ลูกน้องทำให้แล้วก็เอามานำเสนอเป็นงานของตัวเอง, ในการทดสอบข้อเขียนในห้องอบรมก็ลอกคำตอบกันเหมือนนักเรียนลอกข้อสอบซึ่งเป็นพฤติกรรมทุจริตโดยที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่ไม่กล้ารายงานหรือทำอะไรเพราะตำแหน่งต่ำกว่า Talent ฯลฯ ดังนั้น องค์กรจึงไม่ควรวัดผลสัมฤทธิ์ของ Talent ในระหว่างการพัฒนาด้วยการทดสอบข้อเขียนเหมือนนักเรียนทำข้อสอบแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ควรจะต้องติดตามประเมินพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ Talent บางคนเหล่านี้และคัดกรองคนเหล่านี้ออกจาก Talent Pool อีกด้วยนะครับ เพราะถ้าไม่มีมาตรการดังกล่าว ในอนาคตองค์กรนั้นก็จะมีแต่ผู้นำองค์กรที่ทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์, ทำงานเอาหน้าโดยอาศัยผลงานของลูกน้อง ฯลฯ ในที่สุดครับ

1.3.3        งบประมาณในการพัฒนา Talent ไม่ต่อเนื่อง อันนี้คงเข้าใจได้ดีนะครับ เพราะผมอธิบายไปข้างต้นแล้วว่าการพัฒนา Talent ไม่ได้พัฒนากันแค่ปีสองปี แต่ต้องพัฒนาระยะยาว ดังนั้นถ้างบประมาณไม่ต่อเนื่องก็เหมือนกับส่งลูกเรียนหนังสืออยู่ดี ๆ พอมาวันหนึ่งก็เอาออกจากโรงเรียนเสียดื้อ ๆ ยังไงยังงั้นแหละครับ

1.3.4        ไม่มีการประเมินทบทวนผลงานของ Talent รวมถึงมีการแจ้งผล (Feedback) อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ Talent เองก็จะไม่ทราบว่าตนเองมีข้อบกพร่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขยังไงบ้าง ซึ่งเรื่องนี้จะเกี่ยวกับข้อ 7.2 โดยตรงเลยครับ คือต้องมีแผนงานและตัวชี้วัดตลอดจนเป้าหมายในการพัฒนา Talent ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นเสียก่อนครับ

            เมื่อได้ทราบถึงปัญหาที่มักพบเจอในการพัฒนา Talent กันไปแล้ว ในตอนหน้าเราก็จะมาสู่บทสรุปของ Talent กันในตอนสุดท้ายที่ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ Talent ที่เราอุตส่าห์ลงทุนลงแรงเสียเวลาเลี้ยงดูฟูมฟักพัฒนามาเป็นอย่างดีถึงไม่อยู่กับองค์กรของเรา อย่าพลาดนะครับ
.........................................