วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คุยเฟื่องเรื่อง TALENT (ตอนที่ 2)


เมื่อตอนที่แล้วผมได้พูดนำให้ท่านได้เห็นว่า Talent คือใคร มีคุณสมบัติยังไงบ้างรวมถึงลักษณะโดยทั่วไปของ Talent ที่องค์กรต่าง ๆ เขาว่าไว้มาพอเป็นไอเดียกันแล้ว ในตอนนี้ผมจะมาพูดถึงกระบวนการจัดการเกี่ยวกับ Talent ว่ามีขั้นตอนอะไรกันบ้าง

ตามนี้เลยนะครับ....

1.      กระบวนการจัดการ Talent ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ

1.1  การสรรหาและคัดเลือก (Sourcing Recruitment & Selection) ทำอย่างไรจะสรรหาคัดเลือกคนที่จะมาเป็น Talent ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนในองค์กรได้อย่างถูกฝาถูกตัว ซึ่งจะต้องมีกระบวนการสรรหาคัดเลือก โดยวิธีที่มักจะทำกันก็คือ

1.1.1        กำหนด Criteria ของคนที่จะเป็น Talent ขึ้นมาอย่างเช่นที่ผมบอกมาแล้วในข้อ 2 และข้อ 3 แหละครับ

1.1.2        กรณีเป็นคนในองค์กรก็จะให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณากลั่นกรองอีกสักครั้งว่า Talent ที่หัวหน้าเสนอมาน่ะมีคุณสมบัติต่าง ๆ เหมาะสมจริงหรือไม่

1.1.3        จัดการทดสอบ Talent ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่า Talent ที่หัวหน้าเสนอมาน่ะเป็น Talent ตัวจริงเสียงจริงหรือเป็นเด็กของป๋าดันเจ๊ดันกันแน่ ถึงต้องมีการทดสอบ Talent หลาย ๆ อย่างเช่น ทดสอบด้านภาวะผู้นำ, ทดสอบเรื่องการแก้ปัญหาและตัดสินใจ, EQ เป็นต้น ซึ่งแบบทดสอบเหล่านี้มักเป็นแบบทดสอบข้อเขียนโดยอาจจะแบ่งออกลักษณะของการทำสอบเป็น

1.1.3.1  องค์กรสร้างแบบทดสอบเพื่อคัดกรอง Talent ขึ้นมาเองซึ่งวิธีนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก

1.1.3.2  จ้างบริษัทที่ปรึกษาที่เขามีแบบทดสอบอยู่แล้ว เข้ามาดำเนินการ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นไปด้วย

1.2  การพัฒนา Talent (Talent Development) ซึ่งก็จะมีรูปแบบในการพัฒนาหลาย ๆ อย่างเช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับ Talent , การมอบหมายงานให้ทำเป็นกลุ่มเช่นให้คิดโครงการที่เป็นธุรกิจใหม่ที่องค์กรไม่เคยมีมาก่อนและมานำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท ถ้าไอเดียกลุ่มไหนดีก็จะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปโดยให้ Talent ไปบริหารจัดการตามโครงการที่นำเสนอ เป็นต้น ดังนั้นถ้าจะว่าไปการพัฒนา Talent ผมเปรียบเทียบคล้าย ๆ กับทหารที่เขาฝึกคนที่เป็นทหารให้เป็นหน่วยรบพิเศษที่มีความสามารถสูงกว่าทหารปกติทั่วไปทำนองนั้นแหละครับ ซึ่งการพัฒนา Talent นี้จะต้องมีการประเมินและติดตามผลเป็นระยะ ส่วนมากจะประเมินรวมถึงแจ้งผลกันปีละครั้ง ซึ่งหากองค์กรไหนจะมีระบบพัฒนา Talent จะต้องมีเงิน (หรือพูดให้เพราะ ๆ ว่ามีงบประมาณ) หลักหลายล้านบาท เพราะไม่ได้พัฒนาแบบส่งไปแค่ฝึกอบรม 2-3 หลักสูตรแล้วจบนะครับ แต่ต้องพัฒนาในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น ส่งไปดูงานต่างประเทศ, สับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน, มอบหมายงานพิเศษ ฯลฯ และยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คล้าย ๆ กับการส่งลูกเรียนหนังสือแหละครับคือไม่ได้ส่งเรียนแค่ปีสองปีแต่ต้องส่งกันจนกว่าจะจบหลักสูตรตามที่องค์กรกำหนดไว้ในแผนแหละครับ

1.3  การใช้งาน (Utilization) เมื่อองค์กรพัฒนา Talent แล้วต้องใช้งานซะให้คุ้ม..เอ๊ย..ใช้งาน Talent ให้เหมาะสมกับความสามารถ มีสายความก้าวหน้ารองรับ เช่น มองหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่มีลักษณะงานท้าทายให้ Talent ได้ใช้ความสามารถของตัวเองที่มีได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างก็เช่นไม่ควรให้ทหารที่ผ่านหลักสูตรรบพิเศษไปทำงานล้างรถ หรือทำครัวอะไรทำนองนี้แหละครับ ก็ต้องส่งให้เขาไปปฏิบัติภารกิจที่ท้าทายและได้ใช้ความสามารถสมศักดิ์ศรีรบพิเศษจริงไหมครับ

1.4  การธำรงรักษา (Retention) เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรจะต้องมีแผนในการรักษา Talent เอาไว้ให้ได้ เพราะคนเหล่านี้องค์กรอุตส่าห์เลี้ยงดูฟูมฟักพัฒนามาเป็นอย่างดีจนมีความสามารถขนาดนี้ก็ย่อมเป็นที่ต้องตาต้องใจหมายปองสำหรับองค์กรอื่นที่เขาอยากจะมาชิงตัวไป ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ก็มักจะมีแผนในการรักษา Talent เช่น มีการบริหารค่าตอบแทนสำหรับ Talent อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือการให้โบนัสก็จะเป็นพิเศษกว่าพนักงานอื่น, การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งก็จะเป็นแบบ “โตเร็ว” หรือ Fast Track บางแห่งอาจจะมีการให้หุ้นของบริษัทเพื่อจะได้ผูกใจไว้ให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ เช่นการให้หุ้นราคาพาร์แต่ห้ามขายภายในกี่ปีก็ว่ากันไปถ้าลาออก็จะหมดสิทธิในหุ้นเหล่านี้เป็นต้น หรือแม้แต่การวางตัว Talent เป็น “ทายาท” หรือ Successor ในตำแหน่งงานสำคัญ ๆ เพื่อให้ Talent รู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับจากผู้บริหารระดับสูงว่าจะมีอนาคตที่ดีกับองค์กร เป็นต้น

ในเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์หรือลูกเล่นของแต่ละองค์กรว่าจะมีอะไรบ้างที่จะงัดออกมาใช้เพื่อดึงดูดใจ Talent ให้อยู่กับองค์กรให้ได้แหละครับ

เอาละครับเมื่อท่านได้ทราบถึงกระบวนการในการจัดการเกี่ยวกับ Talent ที่ผมประมวลมาจากหลาย ๆ องค์กรซึ่งจากที่ผมเห็นมาก็จะมีกระบวนการที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งจะเป็นไอเดียสำหรับองค์กรของท่านที่สนใจจะพัฒนา Talent ได้แล้วนะครับ ในตอนต่อไปเรามาดูกันซิครับว่าแล้วปัญหาในการพัฒนา Talent จะมีอะไรกันบ้าง รอติดตามตอนต่อไปนะครับ
 
..................................................