จากประสบการณ์ที่ผมทำโครงสร้างเงินเดือนมา
ผมจะใช้เงินเดือนมูลฐาน (Base Salary หรือบางทีก็เรียก Basic
Salary) ครับ
โดยจะนำผลการสำรวจค่าตอบแทน
(Compensation
Survey) ในส่วนที่เป็นเงินเดือนมูลฐานมาเป็นข้อมูลในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือน
ถ้าคุณลองไปดูผลการสำรวจค่าตอบแทนจะพบว่าเขามักจะรายงานไว้
2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนแรกจะเป็นข้อมูลเงินเดือนมูลฐาน (Base Salary) และส่วนที่สองจะเป็นเงินเดือนรวม (Gross Salary) ครับ
ถ้าจะถามว่าเหตุใดผมถึงไม่ใช้ข้อมูลเงินเดือนรวมมาออกแบบโครงสร้างเงินเดือน
และการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนสามารถจะออกแบบโดยให้มีโครงสร้างเงินเดือนเป็นแบบ Gross Salary ได้หรือไม่
คำตอบคือได้ครับ
แต่...
ต้องไม่ลืมว่า
“เงินเดือนรวม” คือเงินเดือนมูลฐานบวกด้วยสารพัดค่าต่าง ๆ เช่น ค่าครองชีพ,
ค่าน้ำมันรถ, ค่าอาหาร, ค่ารถ (Car Allowance), ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชา
ฯลฯ ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าแต่ละแห่งจะบวกค่าอะไรเข้าไปในเงินเดือนมูลฐานบ้าง
และแต่ละบริษัทก็จะมีค่าต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เหมือนกัน
เช่นบางแห่งอาจจะให้เป็นรถประจำตำแหน่ง แต่บางบริษัทอาจจะให้เป็น Car
Allowance แทน หรือบางบริษัทให้เป็นค่าน้ำมันเดือนละ 200 ลิตร ในขณะที่บางบริษัทให้เป็นค่าน้ำมันเดือนละ 5,000 บาท
ซึ่งการให้ที่แตกต่างกันอย่างนี้จะทำให้เปรียบเทียบระหว่างบริษัทเรากับคู่แข่งหรือกับตลาดได้ยาก
จากเหตุผลดังกล่าวผมถึงออกแบบโครงสร้างเงินเดือนจากเงินเดือนมูลฐานเป็นหลัก
เพราะเป็นตัวเงินเดือนแท้ ๆ ที่แกะเอาค่าตอบแทนอื่น ๆ
(ที่แต่ละแห่งให้ไม่เหมือนกัน) ออกไปหมดแล้ว เหลือแต่แก่นแท้ (คือตัวเงินเดือนจริง
ๆ ) จะทำให้สามารถเปรียบเทียบขีดความสามารถในการจ่ายของเราเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดได้ชัดเจนกว่าครับ
.................................................