วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำถามเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ลาพักร้อน)

คำถาม
          1.      ถ้าให้สิทธิพนักงานแล้ว พนักงานไม่ลาพักร้อน สิ้นปีนายจ้างต้องจ่ายให้หรือไม่

2.      นายจ้างให้สะสมวันลาพักร้อนไปปีหน้าถึงเดือนเมษายน แล้วตัดทิ้งโดยไม่จ่ายได้หรือไม่

3.      ให้สะสมวันลาพักร้อนไปได้กี่ปี แล้วตัดทิ้งโดยไม่จ่ายให้ได้หรือไม่

ตอบ
            ผมขอยกเรื่องของสิทธิที่เกี่ยวกับ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” หรือที่เราเรียกกันว่า “ลาพักร้อน” ตามมาตรา 30 เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเบื้องต้นดังนี้ครับ

มาตรา ๓๐  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆ ไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้

            จึงตอบคำถามได้ดังนี้

1.      คุณถามมาว่า “ถ้าให้สิทธิพนักงานแล้ว พนักงานไม่ลาพักร้อน” ผมเข้าใจว่า ผู้บริหารได้จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับพนักงานแล้ว เช่น แจ้งให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 1-6 มีนาคมแล้ว (สมมุติพนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วัน) แต่พนักงานไม่หยุดในวันที่บริษัทจัดให้ อย่างนี้แล้วล่ะก็ สิ้นปีบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพราะในวรรคแรกของมาตรา 30 บอกไว้แล้วว่า “....โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน....”

 อธิบายได้ว่า ถ้านายจ้างจัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อน หรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเรื่องวันหยุดพักผ่อนแล้ว แต่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนครับ

แต่ผมมีข้อสังเกตจากประสบการณ์ว่าถึงแม้ว่าพนักงานไม่อยากจะลาพักร้อน แต่หัวหน้างานก็ควร (บังคับ) ให้ลูกน้องพักร้อนไปบ้าง เพื่อที่จะได้หาคนมาทำแทนในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งจะทำให้งานในตำแหน่งนั้น ๆ มีคนที่สามารถมาทำแทนได้ เผื่อวันหน้าวันหลังมีเหตุที่คาดไม่ถึงที่พนักงานเจ้าของตำแหน่งคนนี้ไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ จะได้มีคนทำแทนได้ไงครับ

อีกประการหนึ่งในตำแหน่งที่จะต้องรับผิดชอบกับทรัพย์สินหรือเงินทองขององค์กรนั้น เคยพบว่าพนักงานที่ไม่ยอมลาพักร้อนเลยทำการทุจริตยักยอกทรัพย์สินเงินทองขององค์กร ก็เพราะถ้าขืนลาพักร้อนแล้วมีคนมาทำแทนก็จะรู้ว่าตนเองทุจริตก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ไป

 และที่สำคัญก็คือแม้แต่เครื่องจักรในโรงงานก็ยังต้องมีการปิดเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงประจำปีกันบ้าง แต่นี่คนทำงานแล้วจะไม่ให้มีการหยุดพักกันบ้างเลยเชียวหรือ ดังนั้นจึงควรให้ลูกน้องพักร้อนเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้กับตัวเองบ้างนะครับ ก็ตามกฎหมายแรงงานเขายังให้ต้องพักอย่างน้อย 6 วันทำงาน (ตามมาตรา 30) เลยนี่ครับ ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้วเขาจะมาเขียนไว้ในกฎหมายทำไมจริงไหมครับ


แต่ในทางกลับกัน ถ้านายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างหยุด หรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันแล้วจะลูกจ้างจะหยุดพักผ่อนประจำปีว่าเป็นวันใด แล้วนายจ้างมาบอกกับลูกจ้างว่า “นี่คุณฉันให้คุณหยุดตามที่บอกไว้ไม่ได้เพราะมีออเดอร์มาเยอะ มีงานต้องทำขอเลื่อนไปก่อน” ทำให้ลูกจ้างเลยไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปี อย่างนี้แล้วนายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับลูกจ้างครับ (ถ้าบริษัทไม่มีกฎระเบียบเรื่องมีการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอาไว้ในปีถัดไป)

2.      เรื่องนี้ขึ้นกับว่าบริษัทของคุณมีหลักเกณฑ์ในการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้อย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้นครับ เช่น ถ้าบริษัทของคุณมีหลักเกณฑ์ระบุไว้ว่า “ให้สะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดในปีนั้น เข้าไว้ในปีต่อไปได้ถึงเดือนเมษายนปีถัดไป หากพนักงานไม่ใช้สิทธิพักผ่อนสะสมก็ให้ตัดวันลาพักผ่อนสะสมออก” บริษัทของคุณก็ปฏิบัติได้ตามนั้นครับ

3.      การจะให้มีวันหยุดพักผ่อนสะสมไปได้กี่ปี ก็อยู่ที่บริษัทของคุณที่จะมีกฎระเบียบในเรื่องนี้ไว้อย่างไร ก็ปฏิบัติตามนั้น เพราะในมาตรา 30 บอกไว้ชัดเจนแล้วว่า “....นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆ ไปได้....” ดังนั้นถ้ามีข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีระหว่างบริษัทและพนักงานกันอย่างไร (ซึ่งบริษัทก็จะต้องมีการระบุเรื่องสิทธิการลาพักผ่อนประจำปีอยู่แล้ว) ก็ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานนั้นครับ

คงจะเข้าใจชัดเจนแล้วนะครับ

.........................................