วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะมีผลกระทบกับองค์กรอย่างไรบ้าง

            ถึง ณ ขณะนี้หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเราคงจะต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับกรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี และนนทบุรีรวม 7 จังหวัดจากเดิมเป็น 300 บาท    สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ก็ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 40 เปอร์เซ็นต์ และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป

            แน่นอนครับว่าภาคเอกชนหรือองค์กรที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานจะต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงแรงงานฯ

            ผมจึงขอพูดถึงผลกระทบที่แต่ละองค์กรจะต้องเตรียมรับมือในส่วนของ Staff Cost ที่จะเพิ่มขึ้นในส่วนไหนบ้าง เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนในองค์กรของท่านได้อย่างเหมาะสมต่อไปดังนี้

1.      เตรียมการปรับค่าจ้างสำหรับพนักงานที่เราจะจ้างใหม่ และคำนวณข้อมูลไว้ล่วงหน้าเลยว่าองค์กรของเราจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (Staff Cost) เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เช่น ในปี 2555 บริษัทจะต้องจ้างลูกจ้างใหม่ตามอัตรากำลัง 300 อัตรา ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2555 (ในปีงบประมาณ 2555) สมมุติว่าเดิมจ้างอยู่วันละ 215 บาท เมื่อปรับขึ้นเป็น 300 บาท ดังนั้นบริษัทก็จะต้องมี Staff Cost เพิ่มขึ้น 85 บาทต่อคน (ตั้งแต่ 1 เม.ย. ถึง 31 ธค.55) ต่อเดือน หรือเท่ากับ 25,500 บาท เมื่อถึงสิ้นปี

2.      ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามข้อ 1 จะเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้ท่านก็ต้องคำนวณไว้ด้วยนะครับว่าจะมี Staff Cost เพิ่มขึ้นเท่าไหร่

3.      ถ้าองค์กรของท่านจ่ายโบนัสให้กับลูกจ้างเหล่านี้ก็อย่าลืมนำค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นฐานในการคำนวณโบนัสด้วย

4.      ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรอื่น ๆ ที่อิงกับค่าจ้าง เช่น ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (กรณีเลิกจ้าง) หรือค่าเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ (ถ้ามี) ที่นำค่าจ้างมาเป็นฐานในการคำนวณ

5.      เงินสมทบประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยดูว่าจะมี Staff Cost เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่

6.      ทบทวนอัตราจ้างตามคุณวุฒิที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ เช่น สมมุติว่าเดิมท่านจ้างพนักงานที่จบปวช.เดือนละ 7,000 บาท ปวส.เดือนละ 8,000 บาท ปริญญาตรีเดือนละ 10,000 บาท ปริญญาโทเดือนละ 15,000 บาท เมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (ผมสมมุติว่าเดิมจ่ายวันละ 215 บาท ต่อเดือนคือ 215x30=6,450 บาท) เป็นวันละ 300 บาท เดือนละ 9,000 บาท (300x30วัน)

แน่นอนครับว่าจะต้องกระทบอัตราการจ้างพนักงานใหม่ที่จบ ปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท (ถ้ามี) ท่านก็ต้องมานั่งคิดว่าท่านจะปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิต่าง ๆ เหล่านี้จากเดิมเป็นอัตราใหม่เดือนละกี่บาท แล้วอย่าลืมคำนวณหา Staff Cost ที่นอกเหนือจากเงินเดือน (เช่น ค่าล่วงเวลา, เงินสมทบประกันสังคมในส่วนที่บริษัทจะต้องจ่าย, เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, โบนัส ฯลฯ) สำหรับการรับพนักงานใหม่ที่จบตามคุณวุฒิต่าง ๆ เหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นทำนองเดียวกับที่ผมยกตัวอย่างไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 5 ข้างต้นด้วยนะครับ

7.      ปรับเงินเดือนพนักงานเก่าที่เข้ามาก่อนทั้งพนักงานที่เดิมจ้างอยู่ที่วันละ 215 บาท, พนักงานเก่าที่จบปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท ที่มีผลกระทบจากการปรับเงินเดือนพนักงานใหม่ตามสูตร Compression Adjustment ที่ผมเคยเขียนไว้ในเรื่อง “จะปรับคนเก่าอย่างไร..ถ้าคนใหม่ได้ 300 หรือ 15,000”  ซึ่งท่านสามารถหาอ่านย้อนหลังได้ที่ http://tamrongsakk.blogspot.com  และคำนวณผลรวมออกมาว่าจะต้องปรับเงินเดือนพนักงานเก่าเหล่านี้เป็นเงินเท่าไหร่

8.      เมื่อปรับเงินเดือนคนเก่าตามสูตรในข้อ 7 แล้ว ท่านก็รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากการปรับเงินเดือนพนักงานเก่าเพื่อพิจารณาว่า Staff Cost ขององค์กรของท่านจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และอย่าลืมคำนวณรวมไปถึง Staff Cost ทั้งหมดที่คิดจากฐานเงินเดือนด้วย เช่น ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, โบนัส, ค่าเบี้ยเลี้ยงอื่น ๆ (ถ้ามี) ฯลฯ ที่ใช้เงินเดือนเป็นฐานในการคำนวณ อ้อ ! อย่าลืมเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของเงินสมทบในการนำส่งประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วยนะครับ

9.      รวมค่าใช้จ่ายด้าน Staff Cost ทั้งหมดที่ผมบอกมาข้างต้น มาพิจารณาว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ เพื่อนำมาวางแผนด้านกลยุทธ์ค่าตอบแทนขององค์กรของท่าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในเรื่องการสรรหาคัดเลือก, นโยบายด้านพัฒนาบุคลากร, นโยบายด้านค่าตอบแทน ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ไม่ได้ต้องการให้ผู้รับผิดชอบด้านค่าตอบแทน หรือผู้บริหารเกิดความตื่นตระหนกแต่อย่างไร แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเราควรจะปรับตัวเราเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร

เช่นในกรณีนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบกับค่าตอบแทนขึ้น ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบด้านค่าตอบแทนจำเป็นจะต้องหาข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อองค์กรอย่างรอบด้าน และสามารถนำข้อมูลนั้นมาคิดวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงให้อยู่รอดได้ต่อไป ดีกว่าจะไม่สนใจจะหาข้อมูล หรือตัดสินใจจากความรู้สึก หรือเอาแต่นั่งหมดอาลัยตายอยาก

เพราะวันนี้เป็นยุคของข้อมูลและข่าวสาร หากองค์กรใดมีข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ถูกต้อง ครบถ้วน มีกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบแล้วนำผลมาเพื่อการตัดสินใจด้วยเหตุและผลที่ผ่านการไตร่ตรองแล้ว ย่อมจะดีกว่าการแก้ปัญหาและตัดสินใจจากอารมณ์และความรู้สึกล้วน ๆ หรือการตัดสินใจแบบขาดสติจริงไหมครับ.

.........................................
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
081-846-2525