วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

ทัศนคติสำคัญอย่างไรในการทำงาน

สวัสดีปีใหม่ 2555 ผู้อ่านทุก ๆ ท่านนะครับ....
ในปีที่ผ่านมา เราต่างก็พบกับเรื่องราวทั้งทุกข์ทั้งสุขกันมาซึ่งเป็นปกติของชีวิต
เคยมีคนพูดว่า "ถ้าเราไม่ทุกข์เสียบ้าง เราก็จะไม่รู้หรอกว่าความสุขเป็นยังไง"
แต่....ถึงกระนั้นผู้คนส่วนใหญ่ก็ขอเลือกที่จะสุขมากกว่าจริงไหมครับ อิ..อิ..
ดังนั้น สำหรับการขึ้นต้นปี 2555 นี้ ผมก็เลยขอนำเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติในการทำงานมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เป็นข้อคิดรับวันปีใหม่ดังนี้ครับ


          “มีผู้อ่านท่านใดที่ได้ทำงานที่ตัวเองรักและอยากทำมาตั้งแต่ก่อนจบการศึกษากันบ้างหรือไม่ครับ ?”

            ขึ้นต้นบทความด้วยคำถามเสียก่อนเลย หากตอบว่าท่านได้ทำงานที่ตัวเองรักและอยากทำแถมงานที่ทำนี้ยังเป็นงานในฝันและก็ได้เข้ามาทำงานในองค์กรนี้ได้อย่างในฝันจริง ๆ ก็นับว่าท่านเป็นผู้โชคดีคนหนึ่งเลยนะครับ

            เพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องมาทำงานในตำแหน่ง หรือองค์กรที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมาทำงาน ณ ที่แห่งนี้ หรือมาทำงานที่นี่โดยไม่คาดคิดมาก่อน และแน่นอนว่าเมื่อมาทำงานแล้วก็จะต้องพบกับปัญหาต่าง ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของสถานที่ทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน, ปัญหาจากผู้บังคับบัญชา, ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ฯลฯ

            พูดง่าย ๆ ว่าต้องมาทำงานที่ตัวเองไม่รักไม่ชอบ แถมยังต้องมาเจอกับปัญหาอีกร้อยแปด ไม่ทำงานทุกวันก็เครียดทุกวัน อย่ากระนั้นเลยสู้เรายื่นใบลาออกแล้วเปลี่ยนงานใหม่เพื่อให้ตัวเองเครียดน้อยลงเห็นจะดีเป็นแน่แท้

            หลายคนคิดได้อย่างนี้แล้วก็ตัดสินใจลาออกโดยคิดว่าปัญหาจะได้จบ ๆ กันไปแล้วไปตายเอาดาบหน้าก็แล้วกัน

            ผลก็คือได้ไปตายในดาบหน้าจริง ๆ ครับ เช่น

·       ลาออกจากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่กลับเจอปัญหาต่าง ๆ ในที่ใหม่หนักกว่าที่เดิมเสียอีก หรือไปทำงานอยู่ในที่ใหม่ได้ไม่นานก็ต้องลาออกเพื่อไปหางานใหม่ต่อไปอีก เลยทำให้เสีย Career หรือความก้าวหน้าในงาน หรือเสียประวัติการทำงานไปเนื่องจากทำงานอยู่ในแต่ละองค์กรไม่นานนัก เรียกว่าบางคนเปลี่ยนที่ทำงานกันถึง 3-4 แห่งก็มี แล้วอย่างนี้องค์กรที่เขาสัมภาษณ์เขาจะแน่ใจอย่างไรล่ะครับว่าท่านจะทำงานอยู่กับเขาได้นาน หรือ

·       ไปเป็นนายตัวเอง เช่น ไปทำธุรกิจการค้าของตัวเอง แต่ทำไปทำมาก็ไม่รอดจะต้องวนกลับมาเป็นลูกจ้างเหมือนเดิมอีก
                   ฯลฯ

            ถ้าอย่างงั้นจะทำยังไงกันดีล่ะ เพราะงานที่ทำอยู่เราก็ไม่ได้ชอบมันสักเท่าไหร่แต่ก็ยังต้องทำ แถมถ้าจะลาออกไปทำงานที่อื่นอีกก็ไม่รู้ว่างานที่ใหม่จะแย่กว่าที่เราทำอยู่ตรงนี้หรือไม่ ?

            ผมอยากจะพาท่านกลับมานั่งนิ่ง ๆ ตั้งสติแล้วลองปรับทัศนคติของท่านใหม่ดังนี้

1.      แม้ท่านได้ทำงานที่ท่านไม่รัก แต่ท่านก็สามารถจะ “รัก” งานที่ท่านทำได้นี่ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลยนะครับ เพราะถ้าแม้แต่ท่านที่เป็นเจ้าของตำแหน่งงานนี้ซึ่งต้องรับผิดชอบงานนี้อยู่โดยตรงยังไม่รักงานที่เราทำ ไม่เห็นความสำคัญในงานของเราเอง แถมยังดูถูกงานที่เรารับผิดชอบเสียด้วย

            แล้วท่านจะไปกะเกณฑ์ให้ใครเขามารักงานของเรา หรือเห็นความสำคัญในงานที่เราทำอยู่ได้อีกล่ะครับ ก็ในเมื่อเรายังดูถูกงานของเราเอง หรือบอกกับตัวเองว่า “งานนี้ไม่เห็นสำคัญอะไรเลย..ใคร ๆ ก็ทำได้” หรือ “ทำไมเราถึงได้โชคร้ายที่ต้องมารับงานอย่างนี้....” ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วล่ะก็เราก็ไม่อยากจะทำงานนี้แล้วล่ะครับ

            มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งอย่างนี้ครับ
            มีวัดแห่งหนึ่งเจ้าอาวาสบอกมัคทายกให้ไปหาช่างก่อสร้างมาก่อกำแพงวัด เพราะเดิมวัดแห่งนี้ไม่มีกำแพงวัดมาก่อน
            มัคทายกก็ไปหาช่างก่อสร้างมาได้ 3 คน มาสร้างกำแพงวัด เมื่อผ่านไปหนึ่งสัปดาห์มัคทายกก็ไปเดินตรวจงาน ไปเจอช่างคนแรกก็ถามขึ้นว่า "ลุง....ทำอะไรอยู่น่ะ"
            ช่างคนที่หนึ่ง หันมาตาเขียวใส่มัคทายก แล้วก็ตอบว่า "ก็ก่อกำแพงวัดอยู่ยังไงล่ะ คุณมาถามผมทำไม อากาศยิ่งร้อน ๆ อยู่ด้วย อย่ามาถามกวนประสาทนะ เฮ้อ! ทำไมผมถึงซวยอย่างนี้หนอ ต้องมาทำงานก่อสร้างกลางแดดกลางฝน แดดก็ร้อนลำบากตรากตรำ ค่าจ้างก็น้อยนิด เมื่อไหร่ถึงจะรวยกันเขาบ้าง.....ฯลฯ" แล้วช่างคนนี้ก็ยังบ่นต่อว่าโชควาสนาอีกมากมายจนมัคทายกขี้เกียจฟังก็เลยเดินหนีไปตรวจงานช่างคนที่ 2
           พอพบช่างคนที่ 2 ก็ถามเหมือนเดิม "ลุงทำอะไรอยู่น่ะ"
            ข่างคนที่ 2 ก็ตอบว่า "ก็ก่อกำแพงวัดอยู่น่ะสิ...นี่เดี๋ยวก่อนนะคุณอย่าเพิ่งถามอะไรผมเลย เดี๋ยวผมขอไปฟังหวยก่อน คุณรู้ไหมวันนี้หวยออกผมเล่นไว้เยอะเลยล่ะ ถ้างวดนี้ถูกหวยผมว่าจะเลิกทำงานลำบากตรากตรำอย่างนี้แล้ว สู้ไปค้าขายอย่างอื่นดีกว่า...." ว่าแล้วแกก็แวบไปฟังหวย
            มัคทายกก็เดินตรวจงานต่อไปเจอช่างคนที่ 3 แกก็ถามเหมือนเดิมว่า "ลุง..ทำอยะไรอยู่"
            ช่างคนที่ 3 หันกลับมายิ้มตอบมัคทายกว่า "ผมกำลังทำบุญอยู่ครับ"
            มัคทายกจึงถามใหม่อีกครั้งว่า "ไหนลุงตอบว่ายังไงนะ"
            ช่างคนที่ 3 ก็ตอบซ้ำว่า "ผมกำลังทำบุญอยู่ครับ คุณฟังไม่ผิดหรอก จริงอยู่คุณจ้างผมมาก่อกำแพงวัด อันนั้นเป็นอาชีพที่ผมต้องทำอยู่แล้ว แต่คุณรู้ไหมว่าผมไม่เคยคิดเลยนะว่าในชีวิตนี้ผมจะได้มีบุญมาก่อสร้างกำแพงวัดอย่างนี้ คุณไม่ต้องมาตรวจงานผมหรอก ผมรับรองว่าผมทำสุดฝีมือเพราะเป็นวาสนาของผมจริง ๆ ที่ได้มีโอกาสมาทำบุญใหญ่ขนาดนี้...."
            ช่างทั้ง 3 คนก็เป็นงานเดียวกัน สภาพการทำงานเหมือนกันคือต้องอยู่กลางแดดร้อนเปรี้ยง อยู่กลางฝน ได้รับค่าจ้างเท่า ๆ กัน แต่ทัศนคติหรือวิธีคิดของช่างแต่ละคนไม่เหมือนกัน ท่านคิดว่าช่างคนไหนจะประสบความสำเร็จในอาชีพช่างล่ะครับ
             แล้วตอนนี้ท่านคิดแบบช่างคนไหนอยู่ครับ ?

            จึงสรุปตรงนี้ได้ว่า “คนคิดบวกชีวิตจะมีแนวโน้มไปทางดีขึ้นอยู่เสมอ ส่วนคนคิดลบชีวิตก็มักจะมีแนวโน้มไปในทางที่ตัวเองคิด” นั่นแหละครับ

2.      เมื่อท่านเริ่มรักงาน และเห็นความสำคัญของงานที่ท่านทำอยู่แล้ว ท่านก็จะมีความมานะพยายามที่จะทำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุด หรือรับผิดชอบงานนั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถที่เรามีอยู่ และก็จะพยายามทำงานนั้นให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ๆ แล้ว ซึ่งความมุมานะพยายามนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเกิดจากการปรับทัศนคติในข้อ 1 ให้ได้เสียก่อนครับ

3.      เมื่อท่านมีความมุมานะที่อยากจะทำงานที่เราต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุดนั้น เราก็จะมีความใส่ใจในงานที่เรารับผิดชอบ มีความตั้งใจจริง มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้งานที่เรารับผิดชอบไปสู่ผลสำเร็จให้ได้ เราก็จะมีความเอาใจใส่ในงานของเรามากยิ่งขึ้น

4.      ในที่สุดเราก็จะมีการทบทวนปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน หรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่ทำให้งานที่เรารับผิดชอบมีความรวดเร็วมากขึ้น มีคุณภาพในงานมากขึ้น หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับงานของเรา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้กับหน่วยงาน หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ กับองค์กรจนมีชื่อเสียงในที่สุด ซึ่งในยุคนี้หลายองค์กรก็มีการส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรมีการนำระบบ KAIZEN เข้ามาปรับปรุงหรือคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ ให้เกิดขึ้นในหน่วยงานและองค์กรอยู่อย่างต่อเนื่อง

            หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงจะคิดว่า “เอ๊ะ ! เรื่องที่ผมเขียนเกี่ยวกันทัศนคติในการทำงานทั้ง 4 ข้อนี้คุ้น ๆ กับเคยได้ยินเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งคลับคล้ายคลับคลา....”

            ผมก็ขอเฉลยว่าทั้ง 4 ข้อคือ “หลักอิทธิบาทสี่” ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้กว่าสองพันปีมาแล้ว ซึ่งยังมีความทันสมัยอยู่เสมอในทุกกาลเวลาเลยจริงไหมครับ

            ฉันทะ – ความพึงพอใจ (ความรัก) หรือมีทัศนคติที่ดีในงานที่เราทำ

            วิริยะ – ความพากเพียร ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน

            จิตตะ – ความเอาใจใส่ในงาน

            วิมังสา – ความหมั่นตริตรอง ค้นหาเหตุผลเพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้น

            หรือจะเรียกว่าหลักอิทธิบาทสี่ที่กล่าวมานี้คือ แนวทางที่พระพุทธองค์สอนให้คนรู้จักการปรับทัศนคติในการทำงาน ซึ่งในยุคสองพันกว่าปีที่แล้วยังไม่มีคำว่า “ทัศนคติ” เหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อนำมาประยุกต์กันแล้วจะพบว่าคือเรื่องของการสอนให้คนมีทัศนคติเชิงบวกในการทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการงานที่เรารับผิดชอบนั่นเองครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมจึงขอถามปิดท้ายบทความนี้ว่า

            “วันนี้ท่านมี “ฉันทะ” หรือมีความรักในงานที่ท่านทำแล้วหรือยังครับ ?”

            อย่าลืมนะครับว่าเราอาจจะเลือกทำงานที่เรารักไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะรักงานที่เราทำอยู่ได้เสมอ และความรักในงานที่เราทำนี่แหละครับ จะเป็นอนาคตในหน้าที่การงานของท่านต่อไปครับ
             "ทัศนคติ..คือทุก ๆ อย่างในชีวิต" คนที่ประสบความสำเร็จที่ท่านพบเห็นอยู่เสมอ ๆ นั้นล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวก มากกว่าคนที่มีทัศนคติเชิงลบนะครับ
              ในปีใหม่นี้ ผมหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีทัศนคติเชิงบวกที่ดี และพร้อมรับกับปัญหาอุปสรรคที่จะเข้ามาด้วยความเข้มแข็ง และมีวิธีคิดหรือมีทัศนคติแบบช่างก่ออิฐคนที่ 3 บ้างแล้วนะครับ
               ขอปิดท้ายว่า "คิดบวก..ชีวิตบวก" ครับ

……………………………….