วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ความไม่รู้กฎหมายแรงงาน=ความเสี่ยงขององค์กร

            มีคำพูดหนึ่งที่เราท่านคงจะเคยได้ยินว่า “เราจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้” เพราะขืนทุกคนกล่าวอ้างกันอย่างนี้บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อมีแปแหง ๆ

            ในทำนองเดียวกันก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริงว่ายังมีบริษัทห้างร้านต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยที่เจ้าของกิจการ, ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานไม่รู้กฎหมายแรงงาน และจากความไม่รู้นี่เองที่ทำให้เกิดคดีความฟ้องร้องกันในศาลแรงงานในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย

            ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าบริษัท รวยไม่เลิก จำกัด เป็นโรงงานผลิตรถจักรยานมีเถ้าแก่เหอเป็นเจ้าของกิจการ (หรือจะเรียกให้หรู ๆ ว่า “กรรมการผู้จัดการ” ก็ได้ครับ) จ้างลูกจ้างอยู่ในสายการผลิต 100 คน วันหนึ่งมีออเดอร์สั่งซื้อรถจักรยานจากเมืองนอกมาถึงบริษัท รวยไม่เลิก เป็นจำนวนมาก คราวนี้ก็งานเข้าล่ะสิครับ เถ้าแก่เหอก็เลยต้องจ้างลูกจ้างเพิ่มอีกสัก 50 คนเพื่อเร่งปริมาณการผลิตให้สูงขึ้นตามออเดอร์

            ครั้นจะจ้างมาเป็นพนักงานประจำ เถ้าแก่เหอก็กลัวว่าหากออเดอร์ลดลงก็ต้องมาปลดพนักงานทั้ง 50 คนออก และต้องมาจ่าย “ค่าชดเชย” และ “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” (หรือบางคนเรียกว่า “ค่าตกใจ”) ทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินค่าเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเพื่อปลดพนักงานออก เถ้าแก่เหอก็เลยทำสัญญาจ้างลูกจ้าง “ชั่วคราว” เข้ามาโดยให้เข้ามาทำงานสัก 1 ปี และตกลงกับลูกจ้างชั่วคราวว่า หากออเดอร์ลดลงบริษัทก็จำเป็นต้องปลดคุณออกโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าตกใจนะเพราะคุณเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่มีสิทธิจะมาเรียกร้องอะไรได้ และทำสัญญาให้ลูกจ้างชั่วคราวเซ็นกันไว้เรียบร้อยเพราะอยากได้งานทำ

            ปรากฎว่าปีแรกก็ยังมีออเดอร์เข้ามาดีอยู่หรอกครับ แต่พอขึ้นปีที่สองก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ออเดอร์หดหาย เถ้าแก่เหอก็เลยจำเป็นต้องปลดลูกจ้างชั่วคราวออกตามสัญญาโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่ตกลงกันไว้

            ท่านลองทายสิครับว่า หากลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้ไปฟ้องศาลแรงงานแล้ว เถ้าแก่เหอจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะถูกเลิกจ้างหรือไม่ ?

            คำตอบก็คือ “ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” แหง ๆ ครับ ฟันธง !

            นี่แหละครับที่ผมบอกว่าเป็น “ความเสี่ยง” ของบริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานที่ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการไม่ทราบเลยว่าตัวเองกำลังนั่งทับความเสี่ยงเหล่านี้อยู่ และเมื่อเกิดคดีความซึ่งทำให้บริษัทจะต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างแล้ว ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทจะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะการจ้างงานที่เอาเปรียบแรงงาน ซึ่งอาจมีผลให้คู่ค้ามองภาพลักษณ์ของบริษัทในทางไม่ดีและอาจจะมีผลต่อการทำการค้าต่อกันได้ในที่สุดอีกด้วยนะครับ

            วิธีการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้คือ เจ้าของกิจการ, ผู้บริหาร, ผู้จัดการ หรือหัวหน้างานทุกระดับควรจะต้องมาศึกษาหาความรู้ในเรื่องกฎหมายแรงงาน ไม่ว่าจะหาความรู้จากการอ่าน, การเข้าอบรมจากสถาบันต่าง ๆ   หรือจัดฝึกอบรมภายในในหัวข้อกฎหมายแรงงานที่ผู้บริหารควรทราบเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อมีความรู้แล้วท่านลองหันกลับมาสำรวจองค์กรของท่านดูอีกสักครั้งสิครับว่าองค์กรของท่านยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายในเรื่องของกฎหมายแรงงานหรือด้านของแรงงานสัมพันธ์ในจุดใดอีกหรือไม่

            ในแต่ละปีจะมีบริษัทต่าง ๆ ถูกลูกจ้างฟ้องเพราะนายจ้างปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากบริษัทเหล่านั้นจะแพ้คดี (เพราะความไม่รู้กฎหมายแรงงาน) ซึ่งจะต้องเสียเงินเป็นจำนวนไม่น้อยแล้ว ยังต้องเสียชื่อเสียงซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินไม่ได้อีกด้วย

            เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมจึงขอถามปิดท้ายบทความนี้ว่า....

บริษัทของท่านคิดจะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้บ้างแล้วหรือยังครับ ?



………………………………………………….