วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567

เข้าใหม่เหมือนกันทำไมถึงได้เงินเดือนไม่เท่ากัน ?

             มีคำถามว่า “เพิ่งจบเข้าทำงานบริษัทแห่งหนึ่งเงินเดือน 16,000 บาท ทำได้ 2-3 เดือนก็เลยลาออกมาสมัครงานที่บริษัทใหม่และขอเงินเดือนไป 17,000 บาท แต่ HR ของบริษัทใหม่บอกว่าบริษัทให้ได้ 16,000 บาท เพราะเพิ่งจบการศึกษามา

            แต่เมื่อทำงานไปก็เจอคนเข้ามาใหม่เหมือนกันตำแหน่งเดียวกันแต่ได้เงินเดือน 17,000 บาท !!??

            ก็เลยสงสัยว่าทำไมถึงได้เงินเดือนไม่เท่ากัน แต่ไม่กล้าถาม HR

            คำถามทำนองนี้ผมว่าคงเป็นคำถามแบบอมตะนิรันดร์กาลตามสูตรที่ว่า....

          “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่”

            และไม่เฉพาะว่าคนที่ถามจะเพิ่งจบใหม่เท่านั้นนะครับ แม้แต่คนที่ทำงานมานานทำงานในตำแหน่งตั้งแต่พนักงานยันผู้บริหารก็ยังมีคำถามทำนองนี้ได้เสมอ

            ทั้ง ๆ ที่ทุกบริษัทท่องคำ ๆ เดียวกันคือ “เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ ห้ามนำไปบอกกัน”

            แต่มันก็ลับเฉพาะใน Pay slip เท่านั้นแหละครับ จริงไหมเอ่ย ?

            จากคำถามข้างต้นผมก็เลยขอประมวลสาเหตุที่ทำไม HR ถึงกำหนดเงินเดือนเริ่มต้นของผู้สมัครเข้าใหม่ไม่เท่ากันตามนี้

1.      คุณวุฒิของผู้สมัครไม่เท่ากัน คุณวุฒิสูงกว่าก็มักจะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่า เช่น ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดถ้าจบปริญญาตรีได้เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท แต่ถ้าจบปริญญาโทจะได้เงินเดือน 18,000 บาท

2.      อายุงานแตกต่างกัน ผู้สมัครที่มีอายุงานมากกว่ามักจะได้เงินเดือนเริ่มต้นที่สูงกว่า เช่น อายุงาน 1 ปีจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นน้อยกว่าผู้สมัครที่มีอายุงาน 3 ปี

3.      ประสบการณ์ของผู้สมัครตรงกับที่บริษัทต้องการและสามารถเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ทันทีจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าผู้สมัครที่ไม่มีประสบการณ์ในงานนั้นโดยตรงหรือมีแต่น้อยกว่า

4.      ผู้สมัครที่มีความสามารถพิเศษตรงตามที่บริษัทต้องการมักจะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่า เช่น บริษัทต้องการผู้สมัครที่มีความสามารถด้านภาษาเช่นภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นก็จะได้รับเงินเดือนหรือบางบริษัทจะให้เป็นค่าภาษา ในขณะที่พนักงานที่ไม่มีความสามารถทางภาษาจะได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่า

5.      ผู้สมัครจบการศึกษาจากสถาบันที่บริษัทต้องการจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าผู้สมัครที่จบสถาบันอื่นที่บริษัทไม่ได้กำหนดไว้

6.      ผู้สมัครจบการศึกษาได้รับปริญญาเกียรตินิยมจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าผู้สมัครที่ไม่จบเกียรตินิยม

7.      บริษัทไม่มีหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราเงินเดือนที่ชัดเจน แต่ให้ตามความพอใจของฝ่ายบริหารพอ HR ทำเรื่องเสนอขึ้นไปผู้บริหารก็จะใช้ความรู้สึก (ซึ่งแฝงอคติประเภท HALO Effect) กำหนดอัตราเงินเดือนผู้สมัครงานที่แตกต่างกัน

8.      ยึดถือบุคลิกภาพและความพอใจของผู้บริหารที่สัมภาษณ์เป็นหลัก ถ้าผู้บริหารสัมภาษณ์แล้วถูกใจ คุยกันถูกคอ (แต่จะเหมาะกับตำแหน่งแค่ไหนยังไม่รู้) หรือชอบโหงวเฮ้งก็จะให้เงินเดือนสูงกว่าผู้สมัครที่ยังไม่ถูกใจนัก ทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือ “ขอน้อยให้น้อย ขอมากให้มาก” หรือบางทีผู้สมัครขอน้อยแต่บริษัทให้มากเพราะผู้บริหารถูกใจ

9.      HR ที่ดูแลงานด้านการสรรหาคัดเลือกขาดทักษะในเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร, ขาดทักษะด้านการบริหารค่าจ้างเงินเดือน แล้วใช้ความรู้สึกในการพิจารณาอัตราเงินเดือนผู้สมัครงานแบบใช้ความรู้สึก เพราะไม่ใช่ HR ตัวจริง หรือเป็น HR อุปโลกน์ที่ถูกบริษัทย้ายให้มารับผิดชอบงาน HR

นี่แหละครับสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำไม่อัตราเริ่มต้นของพนักงานถึงไม่เท่ากัน ซึ่งบางสาเหตุข้างต้นหลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วย หรืออ่านแล้วจะรู้สึกขัดอกขัดใจแต่ก็เป็นสาเหตุของการกำหนดเงินเดือนเริ่มต้นไม่เท่ากันที่ผมแชร์มาจากประสบการณ์ของผมเองที่พบเจอมา

ถ้าถามว่าผมเห็นด้วยกับทุกข้อข้างต้นไหม ก็ตอบได้ว่าบางข้อผมก็ไม่เห็นด้วยและเคยโต้แย้งกับฝ่ายบริหารในบริษัทที่มีนโยบายแปลก ๆ มาแล้ว ซึ่งถ้าใครอยากจะรู้ว่าผมไม่เห็นด้วยในข้อไหนบ้างก็คงต้องคุยกันหลังไมค์เพราะเป็นเรื่องยาวครับ

........................