วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ตั้งเงินเดือนคนจบต่างประเทศสูงกว่าจบในประเทศดีหรือไม่

           ได้ยินคำบ่นของคนทำงานเกี่ยวกับนโยบายของบริษัทในการกำหนดเงินเดือนแรกรับเข้าทำงานโดยให้เงินเดือนคนที่จบในประเทศต่ำกว่าคนที่จบจากต่างประเทศโดยฝ่ายบริหารให้เหตุผลว่า….

“คนจบจากต่างประเทศภาษาอังกฤษดีกว่าคนจบในประเทศ” !!??

            ก็เลยเกิดคำถามว่า

1.      จะแน่ใจได้ยังไงว่า “ทุกคน” ที่จบจากต่างประเทศจะใช้ภาษาอังกฤษ (พูด อ่าน เขียน) ได้ดีกว่าคนที่จบในประเทศ ?

2.      ตำแหน่งที่รับคนจบต่างประเทศเข้ามานั้นเป็นตำแหน่งจำเป็นจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการพูด อ่าน เขียน ติดต่อกับต่างชาติเป็นประจำทุกวันหรือไม่ ?

หลายครั้งก็จะพบว่าบริษัทจ้างคนที่จบจากต่างประเทศเข้ามาก็ให้ทำงานในตำแหน่งงานและลักษณะงานเดียวกับคนที่จบในประเทศทั้ง ๆ ที่ลักษณะงานในตำแหน่งนั้นไม่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ !

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจ้างเจ้าหน้าที่การตลาดเข้ามาพร้อม ๆ กันทั้งสองคนจบปริญญาโทมาทั้งคู่ แต่คนหนึ่งจบปริญญาโทจากในประเทศ ส่วนอีกคนหนึ่งจบปริญญาโทมาจากต่างประเทศ

            ทั้งสองคนนี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดอยู่ในแผนกเดียวกัน ฝ่ายเดียวกัน JD (Job Description) เหมือนกัน และที่สำคัญก็คือในงานการตลาดที่ทั้งสองคนนี้ทำอยู่ก็เป็นงานการตลาดในประเทศ และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานในการพูดอ่านเขียนที่มากไปกว่ากัน  ไม่ได้ต้องไปติดต่อต่างชาติต่างภาษาที่ไหนเลย 

          แต่บริษัทกลับไปให้เงินเดือนคนจบปริญญาโทต่างประเทศสูงกว่าคนที่จบปริญญาโทในประเทศ !!??

            เมื่อถามถึงเหตุผลว่าเหตุใดถึงกำหนดอัตราเงินเดือนคนที่จบปริญญาโทต่างประเทศสูงกว่าคนที่จบปริญญาโทในประเทศ

            คำตอบคือ....

1.      เป็นนโยบายของฝ่ายบริหาร

2.      คนที่จบจากต่างประเทศภาษาอังกฤษดีกว่าคนที่จบในประเทศ (ทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีการทดสอบอะไรเลยว่าภาษาอังกฤษเป็นยังไง แค่ดูทรานสคริปท์ว่าจบมาจากต่างประเทศเท่านั้น แถมลักษณะงานที่ทำก็ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ) ทั้ง ๆ ที่ลักษณะงานก็ไม่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศเป็นหลักในการทำงาน

ฟังคำตอบอย่างนี้แล้วผมว่าข้อ 1 คงเป็นตัวยุติคำถามทั้งหมด เพราะถ้าไม่แน่ใจก็ให้กลับไปดูข้อ 1 คือนโยบายของฝ่ายบริหารจะเอาอย่างงี้แหละ

ถ้าจะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ควรทำไงดี ?

ทำอย่างนี้ดีไหมครับ

            ถ้าบริษัทต้องการจะจ้างพนักงานในตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่การตลาด” เข้ามาทำงานในแผนกการตลาดต่างประเทศ ฝ่ายการตลาด ซึ่งในตำแหน่งงานนี้กำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องจบปริญญาโท จากในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงาน ถ้างานในตำแหน่งนี้จะต้องติดต่อต่างประเทศอยู่เป็นประจำ เจ้าหน้าที่การตลาดจะต้องพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

            บริษัทก็กำหนดคุณสมบัติด้านภาษาเอาไว้สิครับ เช่น ผู้สมัครงานจะต้องมีผลสอบ TOEIC ไม่ต่ำกว่า 700 คะแนนขึ้นไป โดยจะต้องผ่านการทดสอบข้อเขียนด้านการตลาดและมีการสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษประกอบกันด้วย

            ถ้าผู้สมัครงานรายไหนไม่ว่าจะจบในประเทศหรือต่างประเทศนำผล TOEIC มายื่นและสามารถผ่านการทดสอบของบริษัทได้ บริษัทก็กำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับตำแหน่งพนักงานการตลาดนี้ไว้ 25,000 บาท (อันนี้เป็นอัตราเริ่มต้นที่ผมสมมุติขึ้นนะครับ)

            แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดที่อยู่แผนกอื่นที่ไม่ใช่แผนกการตลาดต่างประเทศ และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน บริษัทก็กำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นไว้ที่ 20,000 บาท

            ส่วนคนที่จบปริญญาโทในประเทศหรือต่างประเทศที่ทำงานในแผนกการตลาดในประเทศก็ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000 บาท เพราะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน

            เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้บางท่านอาจจะมีคำถามว่า....

“แล้วในอนาคตถ้าพนักงานการตลาดต่างประเทศทำงานไม่ดีถูกย้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดในประเทศ หรือเจ้าหน้าที่การตลาดในประเทศพัฒนาตัวเองสอบ TOEIC ได้เกิน 700 ขึ้นไปแล้วทางแผนกการตลาดต่างประเทศก็ต้องการตัวไปทำงานด้วยล่ะจะจัดการเรื่องค่าภาษายังไงดี”

            ตรงนี้แหละครับที่ในหลายบริษัทเขาก็จะแยก “ค่าภาษา”  ออกมาจากเงินเดือน เพราะถ้าไปให้รวมอยู่ในฐานเงินเดือนแล้วมันก็จะเป็นฐานในการคิดโบนัส, เป็นฐานในการขึ้นเงินเดือนประจำปีครั้งต่อไป, เป็นฐานในการคำนวณกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะทำให้บริษัทมี Staff Cost สูงขึ้น

เขาก็เลยแยก “ค่าภาษา” ออกมา เช่น อัตราเงินเดือนของพนักงานการตลาดไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศจะเริ่มต้นเท่ากันคือ 20,000 บาท แต่ถ้าใครสามารถผ่านการทดสอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ไปเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดต่างประเทศก็จะได้รับค่าภาษาเพิ่มอีกเดือนละ 5,000 บาท เป็นต้น

โดยมีระเบียบของเรื่องค่าภาษากำหนดเอาไว้ว่าบริษัทจะจ่ายให้สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งไหนบ้างที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน

และมีเงื่อนไขในระเบียบการจ่ายค่าภาษาไว้อีกว่า ในกรณีที่พนักงานที่ได้รับค่าภาษาถูกย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากตำแหน่งที่บริษัทกำหนดก็จะไม่ได้รับค่าภาษาครับ

            ดังนั้น ไม่ว่าผู้สมัครจะจบปริญญาโทในประเทศหรือต่างประเทศก็ตามถ้าผ่านการทดสอบเข้ามาได้ก็จะได้เงินเดือนตามที่บริษัทกำหนด ซึ่งแบบนี้จะเป็นหลักความเสมอภาคและเป็นธรรมในการกำหนดเงินเดือนเริ่มต้น

            ถ้าทำอย่างที่บอกมานี้ผมก็เชื่อว่าบริษัทจะลดปัญหาดราม่าทำนองนี้ลงได้เยอะเลยนะครับ

..........................