วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.5 ไม่ควรรับเข้ามาทำงาน..งั้นหรือ ??

             จะว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของความคิดและความเชื่อของคนก็ว่าได้นะครับ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะอายุมากน้อยแค่ไหน หรือจะอยู่ในตำแหน่งอะไร แต่ละคนก็จะมีความคิดและความเชื่อเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

            ความเชื่อในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน

            เมื่อคนที่เป็นผู้บริหารมีความเชื่อว่าถ้าผู้สมัครงานคนไหนตอนสมัยเรียนมีเกรดเฉลี่ยสูงก็แสดงว่าคน ๆ นั้นเป็นคนเรียนเก่ง เป็นคนรับผิดชอบกับตัวเองดีทำให้ผลการเรียนออกมาดี เมื่อรับคนแบบนี้เข้ามาทำงานแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบในงาน ต้องเป็นคนที่ทำงานได้ดีและจะทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้าดีตามไปด้วย

            จากความเชื่อแบบนี้บางบริษัทก็เลยมากำหนดหลักเกณฑ์ในการรับสมัครเองไว้คือ

องค์กรจะรับผู้สมัครที่จบใหม่ (ไม่มีประสบการณ์ทำงาน) ต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไปเท่านั้น ถ้าใครมีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่านี้บริษัทจะไม่รับเข้ามาเป็นพนักงานประจำ ถ้าผู้สมัครอยากทำงานกับองค์กรก็จะเป็นได้เพียงพนักงานสัญญาจ้าง (พนักงานชั่วคราว) รายปีโดยทำสัญญาปีต่อไป

เมื่อมีกฎเกณฑ์แบบนี้ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามมาคือ

องค์กรรับ นส. A เข้ามาเป็นพนักงานชั่วคราว (ทำสัญญาแบบปีต่อปี) เนื่องจากจบด้วยเกรดเฉลี่ย 2.4 กว่า ๆ ปรากฎว่าเวลาผ่านไปประมาณ 2 ปี นส. A เป็นคนทำงานดี ผลงานดีเป็นที่พอใจของหัวหน้าและคนที่ทำงานด้วยในองค์กร หัวหน้าก็แจ้งมาที่ HR ว่าพอจะมีทางบรรจุนส. A เป็นพนักงานประจำได้หรือไม่

HR ก็มาถามผมว่าเอาไงดี ?

ผมก็เลยถามไอเดีย HR ว่าแล้ว HR คิดยังไง

คำตอบคือจะแจ้งให้นส. A เขียนใบลาออกแล้วกลับมาสมัครใหม่ เพราะหลักเกณฑ์นี้ไม่ครอบคลุมผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงาน !!??

แก้ปัญหาแบบศรีธนนชัยดีไหมครับ ?

พอถามต่อว่า แล้วอายุงานล่ะจะนับยังไง คำตอบคือก็ต้องนับหนึ่งกันใหม่โดยเริ่มตั้งแต่วันที่มาทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำ พูดง่าย ๆ ก็คืออายุงานของนส. A จะหายไปประมาณ 2 ปี

ผมว่าถ้า HR ทำเรื่องนี้เสนอไปที่ฝ่ายบริหารแล้วได้รับการอนุมัติมันก็คงจะย้อนแย้งกับทั้งแนวคิดและหลักเกณฑ์ของฝ่ายบริหารดีพิลึก

และถ้าหากฝ่ายบริหารอนุมัติก็คงต้องตั้งคำถามกลับไปว่า

1.      เกรดเฉลี่ย 2.5 มีผลกับการทำงานของคนจริงหรือ คนที่จบมาด้วยเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.5 คือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบในงาน และจะทำงานสู้คนที่จบ 2.5 ไม่ได้จริงหรือ มีผลการวิจัยหรือผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้จากหน่วยงานไหนทำเอาไว้บ้างไหม หรือมาจากความคิดจากผู้บริหารแบบ HALO Effect ไปเอง

2.      ถ้าองค์กรมีแนวคิดตามข้อ 1 แล้วเหตุใดจึงยังรับผู้สมัครเข้ามาเป็นพนักงานชั่วคราวรายปี เพราะถ้าเชื่อว่าคนที่จบต่ำกว่า 2.5 จะเป็นคนไม่รับผิดชอบในงานก็ไม่ควรแม้แต่จะรับเข้ามาเป็นพนักงานชั่วคราว เพราะจะทำให้งานเกิดความเสียหายได้

3.      จากกรณีของนส. A จะทำให้ฝ่ายบริหารได้ทบทวนความคิดใหม่ได้ไหมว่า เกรดเฉลี่ยไม่เกี่ยวกับการทำงานของคน เพราะคนที่จะทำงานดีหรือไม่ดี มีความรับผิดชอบมากหรือน้อย จะทำงานแล้วก้าวหน้าประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของตัวบุคคลเป็นหลัก

ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการ Competency คือคนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จคือคนที่มีความรู้ในงาน, มีทักษะในงาน และมีคุณลักษณะภายในสำคัญในงาน (คือมี Knowledge Skills และ Attributes หรือมี K S A) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับสถาบันที่จบหรือเกรดเฉลี่ยที่จบมาแต่อย่างใด

4.      ปัจจุบันองค์กรมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัครที่ดีกว่าการดูเกรดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เช่น การทดสอบข้อเขียนหรือการปฏิบัติที่วัดความรู้และทักษะในงานสำหรับตำแหน่งต่าง ๆ ได้ว่าผู้สมัครคนไหนมีคุณสมบัติ (หรือมี Competency) เหมาะตรงมากที่สุด

5.      ถ้าผู้สมัครคนไหนผ่านการทดสอบตามข้อ 4 องค์กรมีการให้ความรู้กับ Line Manager ในการสัมภาษณ์แบบ Structured Interview หรือยัง รู้จักเทคนิคการสัมภาษณ์ตาม Competency (Competency Base Interview-CBI) หรือสัมภาษณ์ตาม Job Description (JDI) บ้างหรือเปล่า

หรือยังคงปล่อยให้มีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครแบบจิตสัมผัส (Unstructured Interview) แล้วก็ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครแบบเปะปะอยู่

หวังว่าเรื่องนี้จะทำให้คนที่เป็นผู้บริหารอ่านแล้วจะคิดทบทวนหลักเกณฑ์เรื่องเกรดเฉลี่ยดูนะครับ แต่ถ้าอ่านแล้วยังคิดว่านโยบายเดิมแบบนี้เหมาะสมดีแล้วก็เอาที่สบายใจละกันครับ