วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

บริษัทควรทำยังไงถ้าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 450 บาท

             เมื่อพูดถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใดก็ย่อมจะมีผลกระทบตามมาเสมอ มากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นในแต่ละครั้ง

            ผมก็เลยขอนำข้อมูลสถิติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ-อัตราเงินเฟ้อและ % ขึ้นเงินเดือนประจำปีย้อนหลัง 15 ปีตั้งแต่ปี 2550- 1 ตค.2565 มาให้ดูตามนี้ครับ

            จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าเรามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยปีละประมาณ 8.6% ในขณะที่เราขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยปีละ 5%

          แสดงว่าอัตราเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าอัตราเติบโตของการปรับเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีในบริษัทเสียอีก !!

            แถมการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการปรับแบบไม่ต้องดูผลงาน ไม่ต้องมีวิชาชีพในการทำงาน แต่การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีมีสารพัดด่านให้ฝ่า เช่นลูกน้องถูกวัดผลงานด้วยสารพัดตัวชี้วัด, กำหนดเป้าหมายการทำงานอย่างเข้มข้น, ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้และทักษะในงานเพิ่มขึ้น ฯลฯ 

          แต่สุดท้ายก็มีค่าเฉลี่ยของงบประมาณปรับเงินเดือนประจำปีประมาณ 5%

          นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นหลังมีเงินเดือนไล่หลังคนเก่าที่เข้ามาก่อนครับ

            เมื่อตอนที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตค.2565 ผมก็ทำตารางให้ดูว่าจะมีผลกระทบกับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิตามนี้

            จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าถ้าบริษัทไหนยังไม่ปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังได้นะครับ แต่ก็อาจจะทำให้อัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.เข้าใกล้ค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าเดิม (ที่ 15.8%) เหลือเพียง 8.6% และอาจจะมีอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิที่ไม่จูงใจให้คนจบใหม่อยากมาทำงานกับเรา ถ้าหากคู่แข่งปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิที่สูงกว่าเรา

            ในการเลือกตั้งที่เพิ่งจบไปเมื่อ 14 พค.ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองสัญญาว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป แต่ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่มาแรงในตอนนี้คือวันละ 450 บาท

          คำถามคือถ้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาทจริงจะมีผลกระทบอะไรกับบริษัทบ้าง ?

            ตามภาพประกอบด้านล่างนี้ครับ

            อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าถ้าบริษัทยังไม่ปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิเพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อ 1 ตค.2565 ก็อาจจะยังพอทู่ซี้ได้อยู่หรอก

            แต่ถ้าในครั้งนี้ปรับเป็นวันละ 450 บาท จำเป็นต้องปรับปวช.หนีค่าจ้างขั้นต่ำแล้วล่ะครับ

เพราะเงินเดือนปวช.ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 11,500 บาท ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 13,500 บาท !!

            แน่นอนว่าเมื่อปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.เราก็ต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิอื่น ๆ ตามไปด้วยแบบยกแผง

            ผมก็เลยนำภาพจำลองการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับคนจบใหม่เพื่อหนีผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาทมาให้ดูตามนี้ครับ

            จากข้อมูลนี้ผมทำเป็น 2 Scenario คือ

Scenario ที่ 1 : ปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิหนีค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ 27.5%

Scenario ที่ 2 : ปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิหนีค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่างปวช.กับค่าจ้างขั้นต่ำเดิมก่อน 1 ตค.2565 และเปอร์เซ็นต์ความห่างของแต่ละคุณวุฒิ

          เมื่อดูจากทั้ง 2 Scenario แล้วจะเห็นได้ว่าอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปริญญาตรีจะถูกปรับขึ้นไปอยู่ระหว่าง 18,524-20,397 บาท

            อันนี้หมายถึงปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ เช่น นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์, บริหารธุรกิจ ฯลฯ

          แต่ถ้าเป็นปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์หรือปริญญาตรีสารสนเทศน่าจะปรับขึ้นไปอยู่ในช่วงประมาณ 24,313-26,771 บาท (เนื่องจากเดิมมีความห่างจากปริญญาตรีทั่วไปอยู่ประมาณ 31.25%)

แล้วบริษัทควรทำยังไงบ้างเพื่อเตรียมรับกับผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ?

1. ทบทวนอัตรากำลังที่จำเป็นต้องจ้าง Worker ใหม่หลังจากปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่ามีกี่อัตรา แล้วคำนวณหาค่าจ้างที่จะเพิ่มขึ้น

2. พิจารณาว่า Worker เก่าที่จ้างเข้ามาก่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำคนไหนที่ได้รับผลกระทบที่จำเป็นต้องปรับหนีคนใหม่บ้าง

3. หาสูตร/วิธีการที่เหมาะสมในการปรับค่าจ้าง Worker เก่า แล้วคำนวณหาค่าจ้างที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้น (ส่วนใหญ่มักใช้สูตร Compression Adjustment เพื่อหาจุดตัดที่เหมาะสม)

4. ทบทวนดูว่าบริษัทจำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมเพื่อให้แข่งขันได้หรือไม่

5. ทบทวนอัตรากำลังที่จำเป็นต้องจ้างพนักงานจบใหม่ตามคุณวุฒิต่าง ๆ หลังจากบริษัทปรับเพิ่มอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ แล้วว่ามีกี่อัตรา แล้วคำนวณหาเงินเดือนรวมที่บริษัทต้องจ้างพนักงานจบใหม่เพิ่มขึ้นว่าเป็นเท่าไหร่

6. พิจารณาว่ามีพนักงานเก่าคนไหนบ้างที่จ้างเข้ามาก่อนการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใหม่ในครั้งนี้ที่ได้รับผลกระทบที่จำเป็นต้องปรับหนีคนใหม่บ้าง

7. หาสูตร/วิธีการที่เหมาะสมในการปรับเงินเดือนคนเก่าเพื่อหนีผลกระทบคนใหม่ที่เงินเดือนไล่หลัง แล้วคำนวณหาเงินเดือนที่บริษัทต้องใช้ในการปรับคนเก่าหนีคนใหม่ว่าเป็นเท่าไหร่

8. ทบทวนดูว่าบริษัทจำเป็นจะต้อง Update โครงสร้างเงินเดือนใหม่หรือยังเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ แต่ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเป็นวันละ 450 บาท (27.5%) จริง ทุกบริษัทจะต้อง Update โครงสร้างเงินเดือนใหม่ครับ

ฝอยมาถึงตรงนี้คงจะพอเป็นไอเดียให้กับท่านในการนำไปคิดหาวิธีการปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิแบบอื่นนอกเหนือจากนี้เพื่อให้เหมาะกับบริษัทของท่านต่อไปนะครับ


ปล.สำหรับการวิเคราะห์ในรายละเอียดทั้งหมดพร้อมทั้ง Workshop ผมจะนำไปคุยกันอย่างละเอียดในหลักสูตรกลยุทธ์การปรับค่าจ้างเงินเดือนในยุคเงินเฟ้อของแพง หลักสูตร C&B Specialist และหลักสูตรหลักสูตรกลยุทธ์การบริหารค่าจ้างเงินเดือนด้วยกรณีศึกษาที่ผมสอนเป็น Public Training 

ถ้าใครสนใจก็ติดต่อได้ที่ HR Center 02-736-2245-7 นะครับ