วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เขาว่า..ถ้าบริษัททำสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวแบบปีต่อปี เวลาจะไม่จ้างต่อและจะเลิกจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

           ปัจจุบันยังมีหลายบริษัทที่มีนโยบายในการจ้างพนักงานชั่วคราว หรือที่มักจะเรียกกันว่า “พนักงานเทม” หรือมาจากคำว่า “Temporary” เข้ามาทำงาน โดยบริษัทก็มักจะรับพนักงานดังกล่าวเข้ามาทำงานโดยมีลักษณะงานเหมือน ๆ กับพนักงานประจำทั่วไปนั่นแหละครับ

            แต่ที่ต้องจ้างมาเป็นพนักงานชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเพิ่มต้นทุนด้านการจ้างแรงงาน เช่น เมื่องานน้อยลง หรือมีออเดอร์ลดลงก็จะเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวเหล่านี้ โดยคิด (เอาเอง) ว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานก็ได้

เพราะในสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวจะระบุเงื่อนไขเอาไว้ชัดเจนว่าถ้าหากปีไหนพนักงานผลงานไม่ดี หรือบริษัทไม่ต้องการจะต่อสัญญา ก็สามารถยกเลิกการจ้างได้ทันทีโดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นให้กับพนักงาน

ซึ่งวิธีการจ้างพนักงานชั่วคราวเหล่านี้เข้ามาทำงานก็ทำเหมือนกับพนักงานประจำทั่วไป

คือเมื่อรับเข้ามาทำงานแล้วก็จะมีการทำสัญญาจ้างงานโดยมีข้อความคล้าย ๆ กับสัญญาจ้างพนักงานประจำ แต่จะแตกต่างกันตรงที่สัญญาจ้างงานของพนักงานชั่วคราวจะมีการระบุวันที่เริ่มจ้าง และวันสิ้นสุดการจ้างไว้ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น

“คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันทำสัญญาจ้าง โดยให้มีผลบังคับเป็นระยะเวลา นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564  โดยเป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายว่าการตกลงว่าจ้างครั้งนี้ เป็นการว่าจ้างชั่วคราวที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน และข้อตกลงว่าจ้างครั้งนี้จะหมดผลใช้บังคับโดยทันที เมื่อกำหนดระยะเวลาการจ้างสิ้นสุดลง

            จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ชัดเจนคือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 พฤษภาคม 2564 คือ 1 ปี

            แล้วก็มักจะมีเงื่อนไขในสัญญาต่ออีกว่า หากผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ บริษัทก็จะต่อสัญญาไปอีก แต่ถ้าผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะเลิกจ้าง หรือหากบริษัทต้องการจะยกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ บริษัทก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

            เมื่อพนักงานชั่วคราวทำงานไปครบ 1 ปี แล้วมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ บริษัทก็จะต่อสัญญาออกไปอีกคราวละ 1 ปี

            แต่ถ้าปีไหนพนักงานผลงานไม่ดี หรือไม่มีงานให้ทำเช่นออเดอร์ลดลง บริษัทก็จะยกเลิกสัญญาและให้พนักงานออกไปตามสัญญาโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะถือว่าเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แล้ว !!??

          การปฏิบัติเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ ?

          ผมก็ขอนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาให้ดูตามนี้ครับ

ฎ.569/2547

“....ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างติดต่อกันมาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่วันที่.....ถึงวันที่.....ต่อมานายจ้างทำสัญญาจ้างใหม่มีข้อความระบุวันเริ่มทำงาน และกำหนดเวลาจ้างสิ้นสุด สัญญาจ้างเป็นอันเลิกต่อกันไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

การเลิกจ้างตามสัญญานี้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากนายจ้าง เห็นได้โดยชัดแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิที่พึงได้รับตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ตามมาตรา 118 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยเป็นโมฆะ....”

          เห็นคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็คงจะเข้าใจชัดเจนนะครับว่าถ้าบริษัทไหนทำสัญญาอย่างที่ผมบอกมาข้างต้น แล้วเลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามอายุงานก็ถือว่าบริษัททำผิดกฎหมายแรงงาน

          ถ้าหากพนักงานฟ้องศาลแรงงาน บริษัทก็แพ้คดีแหงแก๋ครับ

          เพราะหลักก็คือเมื่อทำงานมาแล้วตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปก็มีสถานะเป็นพนักงานประจำแล้วล่ะครับ ถ้าจะเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงตามม.119 บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามม.118 ของกฎหมายแรงงานครับ

          บริษัทไหนยังทำสัญญาจ้างแบบนี้อยู่ก็พึงทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเอาไว้ด้วยนะครับ