วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565

คิดให้ดีก่อนจะมีการต่อเกษียณ

             ผมเคยเขียนเรื่อง “เหรียญสองด้านกับการต่อเกษียณ” โดยบอกข้อดี-ข้อเสียไปแล้ว ใครที่อยากจะอ่านย้อนหลังก็พิมพ์คำ ๆ นี้ในกูเกิ้ลหรือเข้าไปเสิร์จหาใน Blog ของผมก็ได้นะครับ

            มาวันนี้ก็เลยอยากจะคุยเรื่องการต่อเกษียณมาเล่าสู่กันฟังเผื่อจะเป็นไอเดียสำหรับคนที่เกี่ยวข้องว่าจะจัดการเรื่องนี้ยังไงต่อไปเพื่อลดปัญหาลง

            เรื่องมีอยู่ว่าผู้บริหารของบริษัท XYZ จำกัดเห็นความสำคัญในการพัฒนาพนักงานอย่างมาก มีการสร้างระบบสมรรถนะ (Competency) และมีแผนการพัฒนาพนักงาน (Development Roadmap) มีการประเมินสมรรถนะและติดตามผลการพัฒนาพนักงานเป็นรายบุคคลอย่างเป็นระบบ รวมไปจนถึงมีการค้นหาและจัดการในการพัฒนากลุ่มพนักงานที่มีศักยภาพสูง (Talent Management) และแผนการพัฒนาทายาท (Successor) เพื่อขึ้นรับตำแหน่งแทนเจ้าของตำแหน่งหลักกรณีมีการตาย ย้าย เกษียณ หรือลาออก

            แน่นอนว่าบริษัทจะต้องใช้เงินงบประมาณในการทำระบบดังกล่าวข้างต้นไปไม่น้อยยังไม่รวมเวลาที่ต้องใช้ไปในการทำงานตามแผนตามโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงปัจจุบัน

            แต่ปัญหาก็มาเกิดก็ตรงที่ฝ่ายบริหารมีนโยบายในการต่อเกษียณอายุสำหรับพนักงานที่ครบเกษียณอายุให้ทำงานต่อไปในตำแหน่งเดิมอีกคราวละ 1 ปีไปเรื่อย ๆ นี่แหละครับ....

            จากเรื่องนี้ท่านคงจะคิดต่อได้แล้วนะครับว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง และเชื่อว่าหลายบริษัทก็คงเจอปัญหาทำนองนี้อยู่

ผมมีข้อคิดเกี่ยวกับการต่อเกษียณให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิม (ยังทำงานเหมือนเดิม, ยังมีอำนาจในการอนุมัติหรือบังคับบัญชาเหมือนเดิม, ยังมีสถานะเป็นพนักงาน ฯลฯ) อย่างนี้ครับ

1.      เส้นทางความก้าวหน้า (Career Path) ของพนักงานในระดับรองลงไปจะหยุดชะงักหรือถูกบล็อค

2.      พนักงานที่มีความสามารถจะเริ่มมองหางานใหม่และตัดสินใจลาออก หรือที่ยังอยู่ก็อยู่ด้วยความอึดอัดใจ

3.      บริษัทจะมีต้นทุนในการสรรหาคัดเลือกคนเพิ่มมากขึ้น

4.      แผนการพัฒนาพนักงานจะเสียเงินงบประมาณ เสียเวลา และสูญเปล่า

5.      พนักงานที่เก่งงานจะไม่สอนงานเพราะกลัวว่าถ้าสอนงานจนลูกน้องสามารถทำแทนได้ทั้งหมดแล้ว ตัวเองจะไม่ได้รับการต่อเกษียณ

6.      มีการจับงานเป็นตัวประกัน คือคนที่มีความรู้ในงานมาก ๆ และไม่ยอมสอนงานใครจะเรียกร้องต่อรองขอเงินเดือนเพิ่ม

7.      บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยรอบสองในกรณีเลิกจ้างพนักงานที่ต่อเกษียณ

ย้ำว่าที่บอกมาข้างต้นผมหมายถึงการต่อเกษียณในตำแหน่งงานเดิมทำงานเหมือนเดิมนะครับ

ส่วนการต่อเกษียณในลักษณะของที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงที่สอนงานลูกน้องที่ได้รับการ Promote ขึ้นมาทดแทน โดยที่คนที่ได้รับการต่อเกษียณไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานหรือมีอำนาจใด ๆ อีกต่อไป

หรือพูดง่าย ๆ ว่าทำเหมือนกับบริษัทจ้างที่ปรึกษาคนนอกเข้ามาทำงานนี่จะเป็นคนละกรณีกันกับการต่อเกษียณข้างต้นนะครับ

ความเห็นส่วนตัวผมมองว่าการจ้างพนักงานที่เกษียณแล้วในลักษณะของการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงมาเป็นที่ปรึกษาให้กับคนที่ได้รับการ Promote ขึ้นมารับตำแหน่งแทนจะเป็นผลดีกว่าการต่อเกษียณในตำแหน่งเดิมที่มีโอกาสจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

คงเป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายสำหรับฝ่ายบริหารที่จะทำยังไงให้องค์กรเดินไปได้ด้วยระบบมากกว่าการฝากอนาคตขององค์กรไว้ที่ตัวบุคคลครับ