วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ปัญหาการเลื่อนตำแหน่งในปัจจุบัน..และควรจะแก้ไขอย่างไร?

            บริษัทของท่านยังเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งพนักงานแบบนี้หรือไม่ครับ

1.      ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลในการเลื่อนตำแหน่ง โดยดูเฉพาะอายุงานว่าอยู่มานานก็น่าจะรู้งานพอแล้ว น่าจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมารับผิดชอบให้สูงขึ้นได้ น่าจะบริหารทีมงานได้ (สังเกตคำว่า “น่าจะ” นะครับ นี่คือการคิดอนุมานเอาเองของผู้บริหารที่มีอำนาจพิจารณาการเลื่อนตำแหน่ง)

2.      พิจารณาการเลื่อนตำแหน่งจากคนที่มีความรู้หรือทักษะในงาน หรือพิจารณาในเชิง Technical Skill หรือ Hard Skill เป็นหลัก แต่ไม่ได้พิจารณาต่อไปว่าแล้วคนที่มีความรู้และทักษะในการทำงานนั้น เขามีทักษะในการบริหารจัดการผู้คนหรือทีมงาน (People Skill หรือSoft Skill หรือLeadership Skill) หรือไม่

จากวิธีคิดในการเลื่อนตำแหน่งคนขึ้นมาเป็นหัวหน้างานโดยใช้ความรู้สึกอย่างนี้แหละครับ เป็นที่มาของปัญหาระหว่างการทำงานของหัวหน้างานกับลูกน้องหรือแม้แต่การทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ตามมาอีกเพียบ จนกระทั่งมีคนพูดกันเล่น ๆ ว่า....

          “การเลื่อนพนักงานเป็นหัวหน้างานบางครั้งก็จะทำให้ได้หัวหน้างานที่เลวเพิ่มขึ้น 1 คน และเสียลูกน้องที่ดีไป 1 คน”

            แต่ในปัจจุบัน ผมว่านอกจากจะเสียพนักงานที่ที่ดีที่ทำงานเก่งไป 1 คนแล้ว หลายครั้งองค์กรอาจจะเสียลูกน้องที่ทำงานดีไปแทบทั้งแผนกเลยก็เป็นได้ เพราะเขาทนพฤติกรรมของหัวหน้างานที่ไม่ดีคนนี้ไม่ไหวจนต้องลาออกไปน่ะสิครับ

          แต่คำถามคือ แล้วบริษัทจะแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไงดี ?

            ทำอย่างนี้ดีไหมครับ

1.      กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน เช่น

-          จะต้องมีอายุงานในตำแหน่งเดิม (หรืออายุงานในบริษัท) ไม่ต่ำกว่า.....ปี

-          มีผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 2 ปี ไม่ต่ำกว่าเกรด...........

-          มีผลการประเมินสมรรถนะ (Competency) ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

-          จะต้องสำเร็จการศึกษาคุณวุฒิ........

-          จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ.......(กรณีเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ)

-          ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรในปีที่ผ่านมา หรือไม่เคยต้องโทษทางวินัย

-          มีสถิติป่วย สาย ลา ขาดงาน ไม่เกินที่กำหนด

2.      พิจารณาทักษะการบริหารทีมงาน หรือ Leadership Skills ของผู้ที่ถูกเสนอให้เลื่อนตำแหน่งตามตัวอย่างในตารางข้างล่างนี้ เช่น


หมายเหตุ : เกณฑ์ในการได้รับพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งต้องมีเปอร์เซ็นต์รวมมากกว่า 80% ขึ้นไป

หากมีผู้บริหารพิจารณาทบทวนทักษะที่สำคัญในตารางข้างต้นก่อนจะตัดสินใจให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปก็จะลดปัญหาเรื่องการเลื่อนตำแหน่งคนที่ไม่เหมาะสมขึ้นไปได้ไม่น้อยเลยนะครับ

            โธ่! ก็ใครอยากจะได้หัวหน้าที่เก่งงาน รอบรู้งานสารพัด แต่ถ้าหัวหน้าที่เก่งงานดันมีวาจาเป็นอาวุธ มีดาวพุธเป็นวินาศ ลูกน้องทำดีไม่เคยจำ แต่พอทำพลาดไม่เคยลืม จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้, ทำตัวเป็นมาเฟียขาใหญ่, ไม่กล้าตำหนิลูกน้อง, ซื้อเวลาไม่กล้าตัดสินใจ ฯลฯ บ้างล่ะครับ

          ถ้าผู้บริหารไม่ได้ดูในเรื่องนี้ให้ดีแล้วล่ะก็ เรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหัวหน้างาน และจะลุกลามเป็นปัญหาขององค์กรต่อไปในอนาคต

1.      ควรจะมีคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของคนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งซึ่งองค์กรควรจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่ง (ในที่ทำงานเดิมผมจะเรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาพนักงาน” ซึ่งมักจะประกอบด้วย MD เป็นประธานและมีผู้บริหารที่ MD แต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการพิจารณาเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง โยกย้ายพนักงาน โดยพิจารณาคุณสมบัติพนักงานที่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1และมีคุณสมบัติตามข้อ 2เพื่อกลั่นกรองให้ได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งในหลายองค์กรที่ผมเจอมาก็ยังไม่มีคณะกรรมการฯในลักษณะดังกล่าว แต่จะให้ผู้บริหารของแต่ละฝ่ายทำเรื่องเสนอขอ MD ถ้า MD เห็นชอบก็แต่งตั้งกันเลย ซึ่งจะมีโอกาสเลือกคนที่ผิดพลาดไม่เหมาะสมขึ้นมาเพื่อเกิดปัญหาในอนาคตต่อไป

2.      ควรกำหนด “รอบ” ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน เช่น ปีละ 2 ครั้งในเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม เพราะถ้าไม่กำหนดอย่างนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหา “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” นั่นก็คือถ้าผู้จัดการฝ่ายไหนมีพาวเวอร์มีกำลังภายใน หรือป๋าดัน เจ๊ดันก็จะเสนอเลื่อนตำแหน่งลูกน้องอยู่เป็นระยะ ๆ ปีละหลาย ๆ ครั้ง

แต่ถ้าผู้จัดการฝ่ายไหนเจียมเนื้อเจียมตัวไม่ค่อยเสนอลูกน้องให้ MD พิจารณา ก็จะทำให้ลูกน้องแป้กอยู่อย่างงั้นแหละ แถมยังจะทำให้เกิดปัญหาการเปรียบเทียบว่านายของใครจะมีกำลังภายในมากกว่ากัน หรือกลายเป็นเรื่องสองมาตรฐานเป็นเป็นธรรมในองค์กรตามมาเสียอีก ดังนั้นถ้ากำหนดเป็นรอบและแจ้งให้รู้กันให้ชัดเจนจะดีกว่าเพื่อความยุติธรรมทั้งองค์กรจริงไหมครับ

อ่านมาถึงตรงนี้ HR ที่ทำงานในบริษัทที่ยังไม่เคยมีหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งในบริษัทอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นก็ควรจะลองนำไปเสนอกับฝ่ายบริหาร (ตามตัวอย่างข้างล่าง) เพื่อที่จะได้มีกติกาที่ชัดเจนในการเลื่อนตำแหน่งพนักงานภายในบริษัทเพื่อให้มีระบบการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน มีความเป็นมืออาชีพและตอบคำถามพนักงานได้อยู่เสมอไม่เปะปะเหมือนที่ผ่านมาครับ

              หากองค์กรของท่านมีหลักเกณฑ์และมีระบบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจนอย่างนี้แล้ว ผมเชื่อว่าจะเป็นมาตรฐานที่คนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z ยอมรับหลักการเหล่านี้ได้ ซึ่งย่อมจะดีกว่าองค์กรที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน หรือมีการพิจารณาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งกันโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกของผู้บริหารแต่เพียงอย่างเดียวจริงไหมครับ


                                                 ..............................