วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ได้งานที่ใหม่ให้ 35,000 บาท ที่ปัจจุบันรับอยู่ 24,000 บาท ทำงานมา 8 ปีตั้งแต่ 16,000 บาท ควรไปที่ใหม่หรืออยู่ที่ปัจจุบันดี?

 

            มีคำถามอยู่ว่า “ที่ทำงานปัจจุบันให้ 24,000 บาท สมัครงานที่ใหม่ให้ 35,000 บาท เมื่อยื่นใบลาออกหัวหน้าในที่ปัจจุบันเรียกคุย และบอกจะปรับให้เท่ากับที่ใหม่ ควรจะทำอย่างไรดี”

ทำงานที่ปัจจุบันมา 8 ปี เงินเดือนเริ่มต้นตั้งแต่ 16,000 บาท ผมคิดให้ท่านได้รับการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันท่านก็ควรจะได้รับเงินเดือนประมาณ 23,639 บาท

แต่ถ้าสมมุติได้ขึ้นเงินเดือนปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ปัจจุบันก็จะมีเงินเดือนโดยประมาณ 34,297 บาท

แต่ปัจจุบันท่านได้รับเงินเดือน ๆ ละ 24,000 บาท จากข้อมูลที่บอกมาผมจึงคาดว่าท่านคงมีผลการปฏิบัติงาน (ในสายตาของหัวหน้า) อยู่ในระดับปานกลาง

ถามว่าทำไมผมถึงทราบ..ก็เพราะอัตราขึ้นเงินเดือนประจำปีโดยเฉลี่ยย้อนหลังนับจากปี 2543 เป็นต้นมาจากผลการสำรวจของค่ายต่าง ๆ จะอยู่ที่ปีละประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

ถ้าใครผลงานดีก็จะได้ขึ้นเงินเดือนมากกว่าค่าเฉลี่ยนี้ และถ้าใครได้ขึ้นเงินเดือนน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ก็แสดงว่าผลงานน่าจะต่ำกว่ามาตรฐาน

ถ้ามีผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานก็น่าจะได้รับเงินเดือนอยู่ประมาณ 23,639 บาท ซึ่งเงินเดือนปัจจุบันคือ 24,000 บาทก็ถือว่าได้รับประมาณค่าเฉลี่ยของตลาด

คราวนี้เมื่อท่านไปสมัครงาน แล้วที่ใหม่เขาเสนอให้ 35,000 บาท ก็เท่ากับจะได้ปรับเงินเดือนขึ้นมาประมาณ 45.8 เปอร์เซ็นต์ แถมเมื่อมายื่นใบลาออกหัวหน้าก็บอกว่าจะปรับให้เท่าที่ใหม่ (คือ 35,000 บาท) ก็เลยลังเล?!?

ข้อสังเกตของผมก็คือ

1.      ด้วยผลการทำงานของท่านหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับ

ปัจจุบันก็ยังถือว่าสมเหตุสมผล บริษัทไม่ได้เอาเปรียบกดเงินเดือนมากจนเกินไปนัก

2.      ที่ใหม่ให้สูงกว่าที่ได้รับปัจจุบันประมาณ 45.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องปกติซึ่งเขาก็ต้อง

ให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม เพราะถ้าไม่งั้นจะดึงคนมาทำงานได้ยังไงล่ะ แต่แน่นอนว่าที่ทำงานใหม่ก็จะต้องคาดหวังว่าท่านจะต้องทำงานให้เขาเต็มที่ได้อย่างที่เขาต้องการ เช่น อาจจะมี KPIs (Key Performance Indicators) กำหนดว่าจะต้องทำอะไรเมื่อไหร่ เป้าหมายเป็นอย่างไร เป็นต้น

3.      ที่ทำงานปัจจุบันอาจจะขาดหลักในการบริหารค่าตอบแทนให้สัมพันธ์กับผลการ

ปฏิบัติงาน ก็เลยทำให้แลดูไม่เป็นมืออาชีพ กล่าวคือถ้าพนักงานมีผลงานดี มีศักยภาพ ก็ควรจะ ให้ก่อนที่พนักงานจะไปคิดหางานใหม่ นั่นคือบริษัทควรมีการปรับเงินเดือน (ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน) หรือปรับเงินเดือนกรณีพิเศษตามผลงานหรือการเลื่อนตำแหน่งและปรับเงินเดือนให้อย่างเหมาะสมกับผลงานและความสามารถของพนักงาน

แต่นี่กลับมา ให้หลังจากที่พนักงานมายื่นใบลาออกซึ่งก็ทำให้พนักงานคิดได้ว่า แล้วที่ผ่านมาคุณกดเงินเดือนฉันไว้ทำไม ก็ทำให้เสียความรู้สึกไม่น้อย

นี่เป็นตัวอย่างของการวิธีบริหารจัดการในเรื่องค่าตอบแทนอย่างไม่เหมาะสม ที่เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้องค์กรต้องเสียคนดีมีฝีมือไปเสียก่อนแล้วค่อยมาคิดหาวิธีป้องกันเข้าทำนองวัวหายล้อมคอก หรือเสียน้อยเสียยาก..เสียมากเสียง่ายครับ

4. หัวหน้าของท่านในที่ทำงานปัจจุบันมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร, สัมพันธภาพระหว่างท่านกับหัวหน้ายังอยู่ในวิสัยที่จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่, เราจะมีโอกาสได้เรียนรู้งาน หรือหัวหน้างานของท่านเป็นคนเก่งที่จะถ่ายทอดสอนงานให้มีความรู้ความสามารถในงานเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่, ตัวท่านเองมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง, พร้อมที่จะสร้างสังคมใหม่คือหาเพื่อนร่วมงานใหม่, พร้อมปรับตัวกับสถานที่ทำงานใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน และงานใหม่มีความท้าทาย หรือมีอะไรให้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น หรือมีงานอะไรอย่างที่อยากจะทำมากน้อยแค่ไหน, มีโอกาสจะเติบโตก้าวหน้าในที่ใหม่มากน้อยแค่ไหน (เสียดายว่าท่านไม่ได้ให้ข้อมูลมาว่าตำแหน่งที่ใหม่สูงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่) เป็นต้น

ผมอยากให้นั่งนิ่ง ๆ แล้วลองทบทวนและสำรวจตัวเองดูให้ดี ๆ

หากท่านยังเห็นว่าถ้าอยู่กับบริษัทในปัจจุบันแล้วยังมีโอกาสก้าวหน้า, หัวหน้ายังสนับสนุน, ได้เรียนรู้งานเพิ่มขึ้น, บริษัทยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ ก็ควรตัดสินใจอยู่ที่เดิม

แต่ถ้าสัมพันธภาพของท่านกับหัวหน้าไม่ดี, ขาดโอกาสก้าวหน้า, ทำงานไปเขาก็ไม่เห็นผลงาน, มักจะเอาเปรียบเรามาโดยตลอด ที่ปรับเงินเดือนเพิ่มให้เราก็เพราะยังหาคนมาทำแทนเราไม่ได้ อย่างนี้ก็ตัดสินใจไปที่ใหม่เถอะครับ

มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดคือ เราไม่ควรทำสงครามในสมรภูมิที่เราไม่มีโอกาสชนะ ดังนั้น ท่านก็ต้องมาประเมินตัวเองดูว่าตัวเราเองยังมีโอกาสจะชนะในสนามปัจจุบันหรือไม่ ถ้ายังมีโอกาสชนะก็อยู่ต่อ

แต่ถ้าประเมินแล้วว่าไม่มีโอกาสชนะ และตัวของท่านเองมีความสามารถ (Competency) มีฝีมือ มีผลงานที่พร้อมจะชนะได้ในสนามอื่นก็ลงแข่งที่สนามใหม่ดีกว่าครับ

เพราะคำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่ตัวของท่านเอง ถ้าท่านเป็นคนมีฝีมือ มีศักยภาพ มีขีดความสามารถแล้วไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหนก็มีคนต้องการท่านอยู่ดี ตราบใดที่เรายังมีการพัฒนาตัวเอง สร้างผลงานดี ๆ ออกมาแล้ว คนรอบข้างย่อมจะมองเห็นได้เสมอ และท่านก็จะเป็นที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นที่บริษัทเดิม หรือบริษัทใหม่ต่อไปในอนาคตก็ตาม

ที่สำคัญคืออย่ามองแค่การตัดสินใจเพียงครั้งนี้นะครับ เพราะต่อไปเรื่องทำนองนี้ก็คงจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งท่านก็จะต้องมาตัดสินใจอีกว่าจะอยู่ที่เก่าหรือไปที่ใหม่ดี?

การตัดสินใจย่อมมีโอกาสถูกต้องและผิดพลาด แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องจำความผิดพลาดไว้เป็นประสบการณ์เตือนใจเพื่อระวังป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำสอง

ขอให้ตัดสินใจได้ถูกต้องในครั้งนี้นะครับ

                              .......................................