วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

องค์ประกอบสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและตัดสินใจในมุมมองของผม

             หัวข้อนี้ผมพูดไปใน Clubhouse เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 24 เมย.64 ในรายการ HR นานาสาระ ซึ่งผมจะนำเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ด้าน HR มาเล่าสู่กันฟังสำหรับคนที่สนใจด้านการบริหารคนทุกวันเสาร์เวลาทุ่มครึ่งทาง Clubhouse ใครสนใจก็ตามไปฟังกันได้นะครับ

            เนื่องจาก Clubhouse เป็นรายการสดคล้ายสถานีวิทยุ ไม่มีการอัดเทปผมก็เลยอยากจะนำเอาเรื่องที่พูดไปแล้วมาบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเผื่อจะเป็นข้อคิดเตือนใจเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจในเรื่องการแก้ปัญหาและตัดสินใจว่ามีองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้างในมุมมองของผมตามนี้ครับ

1.      สมอง : สมองจัดว่าเป็นตัวสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหา สมองของคนมี 2 ซีกคือ ซีกซ้ายจะเป็นส่วนที่คิดแก้ปัญหาด้วยเหตุผลด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่จับต้องได้พิสูจน์ได้ ด้วยตรรกะที่มาจากเหตุและผล ส่วนสมองชีกขวาจะเป็นส่วนที่คิดแก้ปัญหาด้วยความรู้สึก จินตนาการ อารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์

ในมุมมองของผมนักแก้ปัญหาควรจะคิดแก้ปัญหาโดยมีเปอร์เซ็นต์ของการใช้สมองซีกซ้ายให้มากกว่าซีกขวาตามกฎ 80/20 นั่นคือควรจะคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุด้วยผลให้มากกว่าการใช้อารมณ์ความรู้สึก เพราะถ้าคิดแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการใช้เหตุผลแล้ว

หลายครั้งจะพบว่าปัญหามันมักจะบานปลาย หรือไม่อยู่ในเหตุในผลที่คนทั่วไปจะยอมรับได้ ส่วนที่ดีของการคิดด้วยสมองซีกขวาคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาแบบ Think out of the box ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไงก็ต้องอยู่บนเหตุผลความเป็นไปได้ไม่ฟุ้งจนเหมือนเพ้อเจ้อจริงไหมครับ

2.      IQ และ EQ : แน่นอนว่าคนที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ควรจะมีความฉลาดทางกายภาพหรือ IQ อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ทางวิชาการคือ 91-110 คะแนน) ซึ่งเป็นระดับ IQ ของคนปกติทั่วไปแบบเรา ๆ ท่าน ๆ และผมเชื่อว่ามีไม่น้อยที่มี IQ สูงกว่าเกณฑ์ปกติ แต่ต่อให้คนที่มี IQ สูงยังไงก็ตามถ้าไม่สามารถควบคุมอารมณ์ (EQ) ได้ มักพบว่าเมื่อตัดสินใจแก้ปัญหาไปแล้วยังจะทำให้ปัญหานั้นบานปลายหนักมากขึ้นไปอีก

ลองคิดดูสิครับถ้าหัวหน้าของท่านเป็นคนที่มี IQ เป็นเลิศ พี่เขาเป็นคนเก่ง ฉลาด มีความรู้ทักษะในงานที่เยี่ยมใคร ๆ ก็ยกหัวแม่โป้งให้ แต่....

พี่เขาเป็นคนควบคุมอารมณ์ไม่ได้เป็นคนโผงผางปากไวใจร้อน มีวาจาเป็นอาวุธมีดาวพุธเป็นวินาศ เราทำดีแกไม่จำแต่ทำพลาดแกไม่ลืม ใครพูดไม่ถูกหูล่ะเป็นโดยว๊ากหน้าหงายออกมาเสมอ

อย่างนี้ท่านคิดว่าหัวหน้าคนนี้จะเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีได้ไหมล่ะครับ ใครจะอยากเข้าไปเสนอไอเดียกับแกบ้างล่ะ ต้องดูทิศทางลม (อารมณ์) ของแกก่อนเข้าไปหาไหมว่าวันนี้มีความแปรปรวนระดับไหน ฯลฯ

ใครเคยเจอหัวหน้าแบบนี้มาบ้างยกมือขึ้น 😊

ว่าเขาแล้วเราก็อย่าเป็นแบบนี้ไปด้วยล่ะ ผมเชื่อว่าท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงเห็นด้วยกับผมแล้วใช่ไหมครับว่านักแก้ปัญหาที่ดีจำเป็นต้องมี EQ ที่ดีไม่แพ้ IQ เลยเชียวแหละ

3.      ทัศนคติ : มีคำพูดหนึ่งว่า Attitude is everything” ผมว่าจริงครับ ผมเคยเห็นคนที่เก่ง มีความรู้มีความสามารถมีทักษะในการทำงานที่ดี แต่เมื่อเจอปัญหากลับชอบบอกกับตัวเองว่าเรื่องนี้ยาก, ไม่มีทางจะทำได้หรอก, คนอื่นเขายังทำไม่ได้เลยแล้วเราจะทำได้ยังไง ฯลฯ

ในทางกลับกันคนที่ไม่ต้องเก่งขั้นเทพแต่ถ้ามีความคิดว่าเรื่องยากแต่มันท้าทายและมีโอกาสสำเร็จ, เรื่องนี้ใครทำไม่สำเร็จแต่เราจะทำให้สำเร็จให้ดู, ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ฯลฯ

ใครจะเป็นนักแก้ปัญหาได้ดีกว่ากันครับ?

มักจะพบว่าคนที่ทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จชอบคิดและบอกตัวเองแบบลบ ๆ แต่คนที่ประสบความสำเร็จก็มักจะตรงกันข้าม คือมักจะบอกตัวเองในแบบบวกอยู่เป็นประจำซึ่งก็จะเป็นไปตามทฤษฎี Pygmalion Effect คือจะคิดมุ่งมั่นและทำสิ่งนั้นจนเป็นจริงได้ในที่สุด

คนที่มีทัศนคติดีจึงมีโอกาสแก้ปัญหาได้สำเร็จมากกว่าคนที่มีทัศนคติแบบลบ ๆ ครับ

องค์ประกอบทั้ง 3 ข้อข้างต้นนี่แหละครับเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาในความเห็นของผมและควรนำมาใช้เป็นข้อคิดเตือนสติทุกครั้งเมื่อจะต้องคิดแก้ปัญหาก็จะช่วยเสริมให้การแก้ปัญหาของท่านดีขึ้น

ส่วนใครจะไม่เห็นด้วยยังไงก็คงเป็นความคิดเห็นของท่านซึ่งไม่จำเป็นต้องเชื่อผมทั้งหมดและควรใช้หลักกาลามสูตรคิดไปด้วยว่าที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้จริงหรือไม่

                                             ...............................