วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

เหรียญสองด้านกับการต่อเกษียณ

             บริษัทที่มีระเบียบการเกษียณอายุหลายแห่งก็อาจจะมีการต่อเกษียณให้กับพนักงานหรือผู้บริหารบางคนที่เห็นว่ายังสามารถทำงานต่อไปได้ ยังมีความรู้ความสามารถในงานที่ไม่มีใครสามารถมาทำทดแทนได้ หรือบางบริษัทก็อาจจะมีประเด็นดราม่าคือสงสารเพราะเป็นคนเก่าแก่ ถ้าไม่ต่อเกษียณให้เดี๋ยวพนักงานจะไม่มีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว ฯลฯ ก็ว่ากันไปนะครับ

            ถ้าจะถามว่าการต่อเกษียณมีข้อดีอะไรบ้าง ก็คงทำนองนี้แหละครับ

1.      พนักงานรู้สึกดีกับบริษัท พนักงานที่ได้รับการต่อเกษียณจะรู้สึกเป็นบุญคุณที่ฝ่ายบริหารยังเห็นคุณค่าของตัวเองและยังให้โอกาสที่จะทำงานต่อไป

2.      มีรายได้และสวัสดิการหลังเกษียณ พนักงานที่ได้รับการต่อเกษียณจะยังมีรายได้ต่อไปเรื่อย ๆ สวัสดิการต่าง ๆ จากบริษัทก็ยังคงมีอยู่ เช่น การรักษาพยาบาลเพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าใครมีโรคประจำตัวก็จะยังมีสวัสดิการของบริษัทมาช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้เยอะเพราะถ้าบริษัทไม่ต่อเกษียณก็จะต้องรับภาระนี้ไปเต็ม ๆ

3.      พนักงานรู้สึกมั่นคง พนักงานรุ่นหลังก็จะเกิดความอุ่นใจว่าเมื่อเราอายุครบเกษียณเหมือนรุ่นพี่ ๆ เขาแล้ว บริษัทก็จะต่อเกษียณให้เราบ้าง ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทนี้มั่นคงถ้าเรายังมีความรู้ความสามารถ มีผลงาน มีฝีมือ บริษัทก็จะจ้างเราต่อหลังจากเกษียณแล้ว

4.      บริษัทลดต้นทุนหาคนทดแทน ถ้ามีการต่อเกษียณบริษัทก็ไม่ต้องมีต้นทุนไปหาคนมาทำงานแทนคนที่เกษียณ หรือการวางแผนพัฒนาคนที่จะขึ้นมาทดแทนคนที่จะเกษียณก็ไม่ต้องซีเรียสมากนักเพราะยังไงบริษัทก็ใช้วิธีต่อเกษียณไปเรื่อย ๆ ได้

          เมื่อพูดถึงด้านดีของการต่อเกษียณอายุแล้ว เราลองมามองอีกด้านหนึ่งของเหรียญดูไหมครับว่ามีปัญหาอะไรบ้าง?

1.      พนักงานจะเก็บงานไว้กับตัวและไม่สอนงาน การต่ออายุเกษียณเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานรุ่นต่อ ๆ ไปเห็นว่าถ้าเราอยากจะให้บริษัทต่อเกษียณเราก็ต้องเก็บความรู้ไว้กับตัว ไม่ควรไปสอนงานให้ลูกน้องหรือใครให้มารู้งานดีเท่าเรา เพราะถ้ามีลูกน้องเราหรือใครสามารถทำแทนเราได้ เราก็จะหมดความสำคัญและบริษัทก็คงจะไม่ต่อเกษียณจึงทำให้เกิดปัญหาในหลายองค์กรที่มีการต่อเกษียณคือหัวหน้าไม่ยอมสอนงานลูกน้อง

2.      มีการต่อรองขอให้บริษัทปรับเงินเดือนเพิ่ม เมื่อพนักงานไม่ยอมสอนงานไม่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานให้แก่กัน ทุกคนก็จะเก็บความสำคัญเอาไว้กับตัวเอง พนักงานที่เก่งรู้งานดีมีความสามารถแต่อายุยังไม่ถึงวัยเกษียณก็จะมาต่อรองกับฝ่ายบริหารขอให้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้ ถ้าไม่ปรับเงินเดือนขึ้นให้เขาจะลาออก เรียกว่าจับงานเป็นตัวประกันแหละครับบริษัทหลายแห่งก็เจอปัญหาแบบนี้มาแล้ว

3.      Career Path ชะงักและคนมีฝีมือจะลาออก เมื่อมีการต่อเกษียณอายุก็จะทำให้ Career Path ของตำแหน่งงานต่าง ๆ ถูกบล็อคเอาไว้ คนรุ่นต่อมาก็ Promote ไม่ได้จะทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถรอไม่ไหวลาออกไปที่อื่นทำให้บริษัทเสียคนที่ดีมีฝีมือไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ผังทดแทนและระบบ Talent Management ที่วางไว้มีปัญหา

4.      ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลแทนที่จะเป็นระบบ บริษัทกำลังเอาความสำคัญในงานไปผูกติดกับตัวคนมากจนเกินไป ซึ่งอันนี้จะเป็นปัญหาระยะยาวของบริษัท เพราะระบบการทำงานที่ดีควรจะต้องสร้างคนในให้มีขีดความสามารถขึ้นมาทดแทนคนที่เกษียณหรือลาออกไปได้ ไม่ควรมีตำแหน่งไหนที่สำคัญกับบริษัทมากจนถึงขนาดที่ว่าถ้าขาดคนนี้ไปแล้วบริษัทจะไม่สามารถอยู่ได้

5.      หากจะเลิกจ้างพนักงานที่ต่อเกษียณบริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยรอบที่สอง ถ้าพนักงานที่บริษัทต่อเกษียณทำงานไม่ดีหลังจากต่อเกษียณไปแล้ว หรือมีปัญหาสุขภาพ ฯลฯ แล้วบริษัทมีความจำเป็นจะต้องเลิกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานรอบที่สองอีกครั้งหนึ่งครับ

          ผมมักจะพบว่าบริษัทที่มีนโยบายต่อเกษียณอายุมักจะขาด Development Roadmap ที่ชัดเจน ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมแต่จะใช้วิธีการจัดฝึกอบรมไปเรื่อย ๆ แบบปีต่อปีโดยไม่มีทิศทางหรือเป้าหมายในการพัฒนาคนที่ชัดเจนและไม่มีความต่อเนื่องในการพัฒนาคน แถมด้วยขาดการติดตามผลการพัฒนาอีกต่างหาก

            หลายแห่งก็ยังจัดอบรมแบบ “จิตสัมผัส” หรือจัดอบรมตามที่ผู้บริหารสั่งเป็นครั้ง ๆ หรือคิดแค่เพียงว่าการพัฒนาพนักงานมีแต่เรื่องการส่งไปอบรมและวัดผลเพียงการสอบให้ผ่านเหมือนเด็กนักเรียนหรือได้วุฒิบัตรก็แสดงว่ามีคุณภาพแล้วเท่านั้น โดยไม่เคยพัฒนาคนด้วยวิธีอื่นไม่มีการติดตามผลว่าอบรมแล้วนำสิ่งที่เรียนรู้มาทำอะไรให้เป็นรูปธรรมได้จริงบ้างทำให้เสียงบประมาณในการจัดอบรมไปแบบสูญเปล่าในแต่ละปีไม่ใช่น้อยและได้คุณภาพในการพัฒนาคนแบบปลอม ๆ เอาไว้บอก Audit ที่มาตรวจว่า “ผ่านการอบรมแล้ว” แปลว่ามีคุณภาพ??

            ทั้งสองด้านที่ผมเล่ามานี้หมายถึงการต่อเกษียณในกรณีที่ให้ทำงานเหมือนเดิมในตำแหน่งเดิมและมีสภาพการจ้างเป็นพนักงานบริษัทเหมือนเดิมนะครับ ไม่ได้หมายถึงการต่อเกษียณแล้วให้เป็นที่ปรึกษาซึ่งกรณีการต่อเกษียณแบบเป็นที่ปรึกษาก็ต้องเป็นที่ปรึกษาจริง ๆ นะครับ ไม่ใช่ยังมีอำนาจให้คุณให้โทษลูกน้อง หรือทำงานเหมือนเดิมตอนเกษียณ

          ถ้าจะถามว่าผมเห็นยังไงในเรื่องนี้?

1.      บริษัทควรกำหนดอายุเกษียณให้ชัดเจน เช่น ตามระเบียบให้พนักงานเกษียณที่อายุ 60 ปี แต่ถ้าเห็นว่ากำหนดไว้ 60 ปีน้อยเกินไปก็ควรแก้ระเบียบเกษียณอายุให้ขยายเป็นกี่ปีก็ว่ากันไปเช่นถ้าต่อเกษียณไม่ให้อายุเกิน 65 ปี คือคุยกันให้ดีเสียก่อนแล้วกำหนดอายุเกษียณให้ชัดเจนแหละครับว่าจะเอาที่เท่าไหร่

2.      เมื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้วควรจะต้องทำตามหลักเกณฑ์ เพราะถ้าจะใช้ดุลพินิจ (หรือหลักกู) ต่อเกษียณเป็นบางคนเช่น เห็นว่าเป็นคนเก่าแก่ทำงานมานานก็เลยสงสาร, คิดว่าไม่มีใครทำแทนคนนี้ได้ ฯลฯ แล้วต่อเกษียณเป็นรายบุคคลโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก็จะเกิดปัญหาตามมาหลาย ๆ เรื่องเช่น พนักงานจะครหาว่าเลือกปฏิบัติ, พนักงานรุ่นหลังไม่สามารถเลื่อนขึ้นทดแทนได้ตาม Career Path, การเก็บงานไว้กับตัวเองไม่ยอมสอนงาน ฯลฯ

3.      การต่ออายุหลังเกษียณแบบที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาจริง ๆ หรือเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานที่เลื่อนขึ้นมาทำหน้าที่แทนพนักงานที่เกษียณไป ซึ่งไม่ได้ทำงานเหมือนเดิมทำงานในตำแหน่งเดิม ไม่ใช่การจ้างแรงงานจะไม่เกี่ยวกับความเห็นของผมในที่นี้นะครับ

            หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นตัวสะท้อนความคิดไปยังคนที่เกี่ยวข้องให้ลองคิดชั่งน้ำหนักดูให้ดีว่าเราควรเดินนโยบายในเรื่องนี้ต่อไปยังไงถึงจะดีและเหมาะสำหรับบริษัทของเราครับ

 

……………………………