วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

การต่อเกษียณอายุต้องจ่ายค่าชดเชยรอบที่สองหรือไม่ จ้างแบบไหนไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยรอบสอง?

             ผมเคยเขียนเรื่องเหรียญสองด้านกับการต่อเกษียณอายุไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยสรุปคืออยากให้บริษัทที่จะต่อเกษียณอายุพนักงานได้คิดให้รอบคอบทั้งข้อดี-ข้อเสียและผลกระทบจากการต่อเกษียณว่ามีอะไรบ้าง และมีการพูดถึงการจ่ายค่าชดเชยรอบที่สองหากมีการต่อเกษียณอายุเอาไว้

            ผมก็เลยอยากเอาเรื่องนี้มาขยายความให้ชัดขึ้นเพราะมักมีคำถามอยู่บ่อยครั้งว่าถ้าต่อเกษียณอายุไปสัก 3 ปีแล้วบริษัทจะไม่ต่อเกษียณอายุอีกจะต้องจ่ายค่าชดเชยรอบที่สองหรือไม่

            ตอบได้ดังนี้ครับ

1.      เมื่อพนักงานครบเกษียณอายุตามระเบียบของบริษัท ก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามกฎหมายแรงงาน (มาตรา 118) ครับ เช่น ถ้าพนักงานที่เกษียณอายุมีอายุงาน 10 ปีไม่เกิน 20 ปีบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือถ้ามีอายุงาน 20 ปีขึ้นไปก็ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน พูดง่าย ๆ ว่าบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยรอบที่หนึ่งครับ

2.      สมมุติบริษัทต้องการจะต่อเกษียณอายุให้กับพนักงานซึ่งได้รับค่าชดเชยรอบแรกไปแล้ว โดยต่อเกษียณให้พนักงานมาทำงานเหมือนเดิมในตำแหน่งเดิม ยังได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนเดิม ยังมีอำนาจในการบังคับบัญชา (กรณีเป็นผู้บริหาร) มีอำนาจอนุมัติเหมือนเดิม ฯลฯ บริษัทก็สามารถทำสัญญาจ้างใหม่เพื่อต่อเกษียณออกไปได้ครับ ซึ่งที่ผมเห็นมาส่วนใหญ่มักจะทำสัญญาแบบปีต่อปี

3.      สมมุติว่าบริษัทจ้างพนักงานที่เกษียณไปอีก 3 ปี แล้วในปีที่ 4 ไม่ต้องการจะจ้างอีกต่อไปแล้วพนักงานที่ได้รับการต่อเกษียณก็ไม่เขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องแจ้งเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยรอบที่สองให้กับพนักงานที่ได้รับการต่อเกษียณ โดยนับอายุงานตั้งแต่วันแรกที่มีการต่อเกษียณครับ

4.      บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับพนักงานที่ได้รับการต่อเกษียณตามข้อ 3 ให้ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่าได้ค่าชดเชย 6 เดือน) ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน

5.      ถ้าพนักงานที่ได้รับการต่อเกษียณเขียนใบลาออกยื่นให้กับบริษัทด้วยความสมัครใจบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนะครับ เพราะการที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยตัวลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

จากที่ผมอธิบายมาทั้งหมดจึงสรุปได้ว่าในกรณีที่บริษัทมีการต่อเกษียณอายุให้กับพนักงานแล้วพอถึงวันหนึ่งที่บริษัทจะไม่ต่อเกษียณอายุให้อีก บริษัทก็ต้องแจ้งเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยรอบที่สองครับ เว้นแต่พนักงานยื่นใบลาออกด้วยความสมัครใจที่ไม่ได้เกิดจากการถูกบีบบังคับขู่เข็ญ อย่างนี้บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเป็นการสมัครใจลาออกเองของพนักงาน

แต่..ถ้าการต่อเกษียณอายุนั้นเป็นการต่อเกษียณในลักษณะของการจ้างที่ปรึกษา คือจ้างพนักงานที่เกษียณแล้วเข้ามาเป็นที่ปรึกษาหรือมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานรุ่นหลังที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนคนเดิมที่เกษียณ โดยเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาจริง ๆ โดยมีลักษณะการจ้าง เช่น....

1.      เป็นการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการใด ๆ จากบริษัท

2.      บริษัทมุ่งผลลัพธ์ผลสำเร็จของงานหรือของโครงการที่ปรึกษาเป็นสำคัญ เมื่องานบรรลุเป้าหมายก็จบโครงการนั้น ๆ ไป

3.      ที่ปรึกษาไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาหรือให้คุณให้โทษใด ๆ กับพนักงาน รวมทั้งไม่มีส่วนในการพิจารณาการให้บำเหน็จรางวัลใด ๆ กับพนักงานประจำ และไม่มีอำนาจอนุมัติใด ๆ เหมือนเดิม

4.      บริษัทไม่มีอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชาใด ๆ เช่น ที่ปรึกษาจะเข้ามาทำงานวันไหน หรือไม่เข้ามาทำงานวันไหนก็ไม่ต้องมาขออนุญาต พูดง่าย ๆ ว่าจะมาจะไปก็แล้วแต่ตัวที่ปรึกษา บริษัทไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งกับการทำงานของที่ปรึกษา

ที่บอกมาข้างต้นนี้ท่านจะเห็นได้ว่าลักษณะการจ้างเหล่านี้ก็เหมือนการจ้างที่ปรึกษาคนนอกเข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทนั่นแหละครับ การจ้างแบบนี้จึงไม่ใช่การจ้างแรงงานและไม่มีสถานะความเป็นนายจ้างลูกจ้าง ถ้าไม่พอใจการทำงานของที่ปรึกษาและจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะไม่ใช่การจ้างแรงงานที่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานครับ

หวังว่าจะเข้าใจเรื่องของการต่อเกษียณอายุรอบสองในทุกแง่ทุกมุมแล้วนะครับ

……………………….