วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เราจะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร? (ตอนที่ 1)

            ทุกคนรู้จักความเครียดดีเพราะเป็นสิ่งติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด แต่คนเรามักจะไปมองแต่ในด้านลบเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโดยหลักสมดุลของโลกแล้วของทุกสิ่งย่อมมีสองด้านใหญ่  ๆ คือด้านบวกและด้านลบ เรามาลองดูกันไหมครับว่าทั้งด้านบวกและลบของความเครียดมีอะไรกันบ้าง

1.      อิทธิพลของความเครียดในด้านบวก ก็คือความเครียดจะเป็นตัวช่วยควบคุมการกระทำของมนุษย์ให้มีความกระตือรือร้น มีความตื่นเต้น กับงานหรือสิ่งที่ต้องการจะทำให้สำเร็จลง และเมื่อสามารถทำงานหรือภารกิจนั้นให้สำเร็จลงได้ตามแรงกระตุ้นของความเครียดนั้นแล้ว ก็จะรู้สึกสบายใจ โล่งใจ มีความสุข

            เช่น นักกีฬาทุกคนก่อนลงแข่งขันจะมีความเครียดสูงเพราะมุ่งหวังต่อผลสำเร็จคือชัยชนะ ทุกคนมีความตื่นเต้น กระตือรือร้นที่จะแข่งขันให้ได้เหรียญเพื่อนำกลับสู่ประเทศไทยให้ได้ บางคนถึงกับกินอะไรไม่ค่อยลงเมื่อก่อนแข่งขันเชียวนะครับ แต่พอหลังจากการแข่งขันประสบความสำเร็จแล้ว ทุกคนจะมีความสุขที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้โดยเฉพาะคนที่สามารถคว้าเหรียญติดมือกลับมาได้จะรู้สึกว่าคุ้มค่ากับที่ต้องอดทนกับความเครียดจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด

          นี่แหละครับอิทธิพลของความเครียดในด้านบวก

2.      อิทธิพลของความเครียดในด้านลบ ในเรื่องนี้จะกลับกันกับข้อ 1 ครับ นั่นก็คือผลของความเครียดที่เกิดกับมนุษย์นั้น หากมีความหนักหนามาก หรือคนที่ได้รับความเครียดมีภูมิต้านทานความเครียดไม่เพียงพอ ก็อาจจะเกิดอาการต่าง ๆ แสดงออกมาให้เห็นได้เช่น   ปวดท้อง , เป็นโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบ, เป็นลม, นอนไม่หลับ, เป็นแผลพุพอง (ร้อนใน) ในปาก ฯลฯ พูดง่าย ๆ ว่าอิทธิพลของความเครียดในทางลบนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนโดยตรงครับ ซึ่งหากคน ๆ นั้นไม่รู้จักวิธีที่จะลดความเครียดลง แล้วปล่อยให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ๆ แล้วสุขภาพก็จะพลอยแย่ลงไปตามลำดับครับ

ต้นเหตุของความเครียด

            เรามาลองดูกันสิครับว่าต้นเหตุหลัก ๆ ของความเครียดมีอะไรกันบ้าง ดังนี้ครับ

1.      ความต้องการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Survival Stress) เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยต่อคนแล้ว โดยทั่วไปคนก็จะมีการโต้ตอบกับภัยในสถานการณ์นั้น แบบง่าย ๆ คือ สู้หรือหนี  เช่น เราเดินถนนอยู่ดี ๆ ก็มีคนหน้าตาดุดันมาเอามีดจี้แล้วขอเงิน ซึ่งหากเป็นกรณีกะทันหันก็จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอะดรีนาลีน หลั่งออกมาโดยอัตโนมัติ เจ้าฮอร์โมนที่ว่านี่แหละครับที่ทำให้คนตกใจมีกำลังมากกว่าปกติ เช่น วิ่งเร็วกว่าปกติ หรือ มีแรงยกของหนักกว่าปกติที่เวลาทั่วไปทำไม่ได้ ซึ่งอะดรีนาลีนนี้หากคงอยู่ในร่างกายบ่อย ๆ หรือนาน ๆ ก็จะมีผลเสียต่อร่างกายด้วยครับ

2.      ความเครียดที่เกิดจากภายในตนเอง (Internally Generated Stress – Anxiety Stress) สาเหตุของความเครียดแบบนี้จะเกิดจากภายในของคนแต่ละคนเป็นผู้สร้างขึ้นมาครับ เพราะแต่ละคนจะมีภูมิต้านทานความเครียดไม่เท่ากัน บางคนเป็นคนเครียดง่ายคิดมาก อ่อนไหวง่าย แถมไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเองได้เสียอีก เป็นต้นว่าใครพูดอะไรที่ตัวเองไม่ชอบก็จะเก็บเอามาคิดมาเครียดอยู่เป็นวัน ๆ คิดวนไปวนมาเหมือนพายเรือในอ่าง ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่เป็นประเภทใครติไม่ได้หรือศัพท์เทคนิคเรียกว่าพวก Perfectionism ไงครับ

3.      ความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม (Environmental Stress) ความเครียดประเภทนี้มักเกิดจากการที่คนรู้สึกถูกรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของตนเอง เช่น สภาพแวดล้อมของบ้านที่อยู่เปลี่ยนแปลงไปด้วยมลภาวะที่มากยิ่งขึ้นเช่นมีฝุ่นละออง , รถติด , เสียงดัง ฯลฯ หรือ ในสถานที่ทำงานถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทำให้ไม่สะดวกสบายเหมือนแต่ก่อน หรือมีการปรับปรุงซ่อมแซมที่ทำงานทำให้เกิดมลภาวะมีฝุ่นหรือมีกลิ่นสีทำให้เกิดความเครียดจากสภาพแวดล้อมดังกล่าว เป็นต้น
4.      ความเครียดที่เกิดจากอาหารการกิน หรือสารเคมี (Nutritional & Chemical Stress) ไม่น่าเชื่อนะครับว่าบางครั้งความเครียดก็อาจจะมาจากอาหาร หรือเครื่องดื่มที่เราปรับประทาน เช่นที่ทำงานเคยเสิร์ฟกาแฟตอนประชุม แต่วันนี้กาแฟหมดทำให้บางคนเกิดความเครียดเพราะขาดคาเฟอีนกระตุ้นร่างกาย เป็นต้น ซึ่งความเครียดว่ามานี้เกิดจากอาหารหรือสารเคมีทำให้มีผลต่อร่างกายครับ

ชีวิตประจำวัน และงานที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด

ทีนี้เรามาพูดกันถึงชีวิตประจำวัน และงานของเรา ๆ ท่าน ๆ ว่ามีความสัมพันธ์กับความเครียดได้อย่างไรกันบ้างนะครับ

1.      การทำงานที่มากจนเกินไป หรือน้อยจนเกินไป
2.      ถูกกดดันด้วยเงื่อนเวลา และมีเส้นตายกำหนด
3.      ต้องรับผิดชอบต่อผู้คน , งบประมาณ หรือ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้
4.      เกิดขัดแย้ง หรือคับข้องใจในสถานภาพของตัวเอง
5.      ความต้องการหรือความคาดหวังจากลูกค้า
6.      มีปัญหาทางด้านการเงิน หรือด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
7.      สภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การหย่าร้าง , การแต่งงาน ฯลฯ

            เอาล่ะเมื่อเราได้ทราบที่มาและสาเหตุของความเครียดกันไปแล้วเรามาดูว่าแล้วเราจะมีวิธีการจัดการความเครียดกันยังไงในตอนต่อไปนะครับ

…………………………..