วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

บริษัททำแบบนี้ก็ได้เหรอ?


            บ่อยครั้งที่ผมได้รับคำถามทั้งในห้องอบรมหรืออีเมล์มาสอบถามว่าบริษัททำสัญญาจ้างแบบนี้ได้ด้วยหรือ เช่น

1.      ระบุในสัญญาจ้างว่าถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัท บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้าย เช่น บริษัทมีระเบียบว่าต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน แต่ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกวันที่ 15 มีนาคม ให้มีผลลาออกวันที่ 1 เมษายน บริษัทนี้ก็จะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายคือ 1-15 มีนาคม เพราะถือว่าพนักงานทำผิดระเบียบการลาออกและทำให้บริษัทเสียหายหาคนมาแทนไม่ทัน

2.      บริษัทมีระเบียบเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานทุกตำแหน่งงาน เช่น สมัครทำงานตำแหน่งพนักงาน HR ก็ถูกเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงาน โดยบริษัทจะหักเงินเดือนทุกเดือนตามที่ตกลงกันจนกว่าจะครบวงเงินค้ำประกัน

3.      ถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัท บริษัทก็จะไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงาน

4.      ถ้าพนักงานไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทก็จะไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงานด้วยเช่นเดียวกัน

5.      บริษัททำสัญญาจ้างเป็นพนักงานรายปี โดยทำสัญญาปีต่อปีมีเงื่อนไขว่าถ้าปีที่ผ่านมาทำงานดี บริษัทก็จะต่อสัญญาในปีต่อไป แต่ถ้าในปีที่ผ่านมาผลงานไม่ดีบริษัทก็จะไม่ต่อสัญญาและจะบอกเลิกจ้างได้โดยบริษัทจะไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

ฯลฯ

            ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างสำหรับผู้สมัครงานที่เขาสงสัยว่าบริษัทที่ตอบรับเข้าทำงานเขาจะทำสัญญาจ้างอย่างนี้ได้หรือไม่

            อีกกรณีหนึ่งคือคนที่เป็นพนักงานและทำงานกับบริษัทมาสักปีสองปีหรือมากกว่านั้น แล้วก็เพิ่งรู้ว่าบริษัทมีกฎระเบียบที่แปลก ๆ ดังนี้

1.      ไม่มีระเบียบการจ่ายโอทีที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้าหรือดุลพินิจของเถ้าแก่ว่าจะให้หรือไม่ แถมการคิดค่าโอทีก็ใช้วิธีการเหมาจ่ายที่อัตราต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด

2.      สั่งให้พนักงานไปทำงานนอกสถานที่แต่ไม่มีค่าพาหนะให้ พนักงานต้องจ่ายค่าแท๊กซี่หรือค่ารถไฟฟ้ากันเอาเอง

3.      หักค่ามาสายเกินกว่าเวลามาสายจริง เช่น มาสาย 3 ครั้งใน 1 เดือนจะถูกหักค่ามาสาย 1 วัน

4.      มีระเบียบการลาพักร้อน แต่พนักงานไม่เคยได้ลาครบตามสิทธิที่มีแถมบริษัทไม่จ่ายคืนเป็นเงินโดยอ้างว่าพนักงานไม่ลาพักร้อนเองก็ถือว่าสละสิทธิ

5.      เมื่อถึงสิ้นเดือนจ่ายเงินเดือนไม่ครบตามที่ตกลงกันไว้

ฯลฯ
            ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติทำนองนี้ยังมีให้เห็นได้อยู่เสมอในบางบริษัทที่มีการบริหารจัดการแบบเก่า ๆ ซึ่งทำให้เป็นที่มาของคำถามที่ว่า

“บริษัททำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ?”

หรือแทนที่จะถามว่า “ควรจะทำงานกับบริษัทแบบนี้ดีหรือไม่”

ผมมักจะบอกว่าผู้ถามควรจะตั้งคำถามใหม่จะดีไหมครับ เปลี่ยนเป็นมาตั้งคำถามว่า....

“มีบริษัทอื่นที่ดีกว่านี้อีกไหม?”

แล้วผู้ถามลองตอบใจตัวเองดู เพราะคำถามที่ดีจะนำมาสู่คำตอบที่ดี ๆ อยู่เสมอนะครับ

...................................