วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ป้องกันไม่ให้เงินเดือนสูงเกินกระบอก..ควรทำยังไงดี


          มีคำถามว่า “ถ้าหากบริษัทกำหนดค่าจ้างโดยแบ่งเป็น 1. ฐานเงินเดือน 2. Special Allowance โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ฐานเงินเดือนของพนักงานสูงเกินกระบอก หากจำเป็นจะต้อง Review โครงสร้างเงินเดือนใหม่ ควรใช้แนวทางใด”

            ถ้าคำถามมาอย่างนี้ผมตั้งข้อสังเกตไว้ได้เลยว่าบริษัทของคุณน่าจะ....

1.      ออกแบบโครงสร้างเงินเดือนโดยอาจจะวางราคาเฉลี่ยของตลาดเอาไว้ค่อนไปทางต่ำซึ่งจะทำให้ Midpoint ของแต่ละกระบอกมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าราคาตลาด หรือ

2.      ไม่เคย Update โครงสร้างเงินเดือนซึ่งเคยใช้โครงสร้างเงินเดือนนี้มาหลายปีแล้วไม่เคยทบทวน Update จึงทำให้ค่า Midpoint ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ณ ปัจจุบัน

จากข้อสังเกตทั้ง 2 ข้อนี้เลยเป็นที่มาของนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ไม่ให้ฐานเงินเดือนสูงเกินกระบอก (เพราะค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่จ่ายจริงของพนักงานในกระบอกนี้คงจะอยู่เกิน Midpoint และน่าจะเข้าไปอยู่ใน Quartile4 หรือใกล้ตันตามข้อสังเกตที่ผมบอกไว้ข้างต้น) เลยต้องหาเงินตัวอื่นเช่น Special Allowance เติมเข้าไปเพื่อให้แข่งขันได้

แต่ต้องไม่ลืมว่า Special Allowance ที่เติมเข้าไปนี้ก็คือ “ค่าจ้าง” ซึ่งจะมีผลที่จะต้องนำไปใช้เป็น “ฐาน” ในการคำนวณโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยนะครับ แม้จะดูว่าเป็นตัวช่วยไม่ให้เงินเดือนตันเร็วก็ตาม

ดังนั้นคำถามที่ว่า “หากจำเป็นในการ Review โครงสร้างเงินเดือนใหม่ควรใช้แนวทางไหน?

คำตอบคือ..

1.      บริษัทควรทบทวนโครงสร้างเงินเดือนในปัจจุบันดูว่าทุกกระบอกในโครงสร้างเงินเดือนของเรามีค่า Midpoint ที่ยังแข่งขันกับตลาดได้ดีอยู่หรือไม่ ถ้าต่ำกว่าตลาดมากเกินไปก็ควรจะต้อง Update โครงสร้างเงินเดือนได้แล้วครับ

2.      เมื่อโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทสามารถแข่งขันกับตลาดได้แล้วให้กลับมาดูว่า Special Allowance ต่าง ๆ ที่บริษัทจ่ายอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาด (ต้องดูข้อมูลจากผลสำรวจของตลาด) แล้ว ปัจจุบันบริษัทจ่ายอยู่เป็นยังไง สู้กับตลาดแข่งขันได้หรือไม่

3.      นำข้อมูลจากข้อ 2 มากำหนดองค์ประกอบการจ้าง(คือเงินเดือน+เงินอื่น ๆ)ให้เหมาะสมกว่าเดิมโดยกำหนดอัตราส่วนระหว่างฐานเงินเดือนกับ Special Allowance ให้ดี ซึ่งทั้งหมดที่ผมว่ามานี้สิ่งสำคัญคือคุณต้องมีข้อมูลของตลาดประกอบการวิเคราะห์เพื่อหาอัตราส่วนที่เหมาะสมด้วยนะครับ

……………………………………………….