วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เวลาสัมภาษณ์อย่าลืมสังเกตภาษากาย

ในตอนที่แล้วผมอธิบายให้ท่านทราบแล้วว่าการสัมภาษณ์แบบ Structured Interview คือยังไงคราวนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องของการสังเกต “ภาษากาย” ของผู้สมัครงานที่มีความสำคัญไม่แพ้หลักการสัมภาษณ์แบบ Structured Interview เลยนะครับ

เมื่อเราได้มีการตั้งหรือเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้าก่อนการสัมภาษณ์แบบ Structured Interview แล้ว ผมเชื่อว่าผู้ที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์หลาย ๆ ท่านคงจะให้ความสำคัญกับการพูดจาซักถามโต้ตอบ หรือมุ่งอยู่กับตัวคำถามและคำตอบเป็นหลักว่าผู้สมัครตอบเป็นยังไง เข้าเป้าหมายที่เราต้องการจะรู้หรือไม่ ใครตอบคำถามได้ดีกว่ากัน ฯลฯ

ซึ่งบางครั้งกรรมการสัมภาษณ์อาจจะติดใจหรือพึงพอใจในสำนวน โวหาร น้ำเสียง ท่วงทำนองการพูดที่น่าฟังของผู้สมัครงานจนลืมการสังเกตภาษากายของผู้สมัครงานประกอบการสัมภาษณ์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดไป 

และในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ตอบคำถามได้ดูน่าเชื่อถือหรือสามารถนำเสนอได้เก่งเข้ามาทำงานโดยไม่ได้สังเกตว่าภาษากายรวมถึงบุคลิกภาพของผู้สมัครสอดคล้องกับคำตอบ หรือเหมาะสมกับตำแหน่งงาน, หน่วยงาน หรือบริษัทหรือไม่

          เรียกว่ากรรมการสัมภาษณ์ “เห็น” แต่ไม่เคย “สังเกต” ภาษากายของผู้สมัครงาน !!

            เพราะภาษากายมีอิทธิพลมากกว่าการพูดหรือน้ำเสียง..

ขออนุญาตยกคำพูดจากหนังซีรีย์ฝรั่งเรื่องหนึ่งคือเรื่อง Lie to me ที่บอกไว้ว่า

Words lie. Your face doesn’t”

แปลง่าย ๆ ว่าคำพูดน่ะโกหกกันได้ แต่สีหน้า (หรือภาษากาย) น่ะโกหกกันยาก

หมายความว่ากรรมการสัมภาษณ์ควรจะต้องฝึกฝนการอ่านภาษากายของผู้สมัครงานไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ถามแล้วก็ก้มหน้าก้มตาอ่านแต่ใบสมัครงาน, อ่านคำถาม หรือไม่สบตาสังเกตดูว่าคำตอบกับสีหน้า แววตา ภาษาการของผู้สมัครงานสอดคล้องกันกับคำตอบหรือไม่

เช่น ถามเขาว่า

“ทำไมคุณถึงอยากจะลาออกจากงานล่ะ เพราะปัจจุบันตำแหน่งและเงินเดือนของคุณก็ดีนี่”

            ผู้สมัครงานก็ตอบว่า “ต้องการความก้าวหน้า”

            หากกรรมการสัมภาษณ์สบสายตาและสังเกตภาษากายของผู้สมัครงานรายนี้ให้ดีก็อาจจะพบว่าขณะที่ตอบคำถามนี้เขาหลบสายตาวูบลงมองต่ำหรือเบนสายตาหลบตากรรมการสัมภาษณ์ มีสีหน้าอึดอัดบางอย่าง หรือถอนหายใจยาวเฮือกใหญ่

            ภาษากายที่ไม่สอดคล้องกับคำตอบอย่างนี้แหละครับที่กรรมการสัมภาษณ์จะต้องสะกิดใจแล้วว่าสาเหตุของการเปลี่ยนงานคงน่าจะเป็นเรื่องของต้องการความก้าวหน้าแล้ว แต่ผู้สมัครรายนี้อาจจะมีปัญหาในงานที่รับผิดชอบในขณะนี้ หรือมีปัญหากับหัวหน้าหรือกับองค์กรอะไรบางอย่างแล้วอึดอัดก็เลยอยากจะลาออกมากกว่า

            ซึ่งกรรมการสัมภาษณ์ก็ควรจะต้องถามผู้สมัครเพื่อหาข้อเท็จจริงและเก็บพฤติกรรมของผู้สมัครรายนี้ เช่น ถามต่อว่า

            “ถ้าคุณตอบอย่างนี้แสดงว่าที่บริษัทปัจจุบันนี้คุณไม่สามารถจะก้าวหน้าต่อไปได้หรือ”

            คราวนี้ผู้สมัครรายนี้อาจจะแสดงสีหน้าหนักใจหรือแววตาเซ็งมาก ๆ พร้อมกับระบายปัญหาในบริษัทปัจจุบันรวมทั้งปัญหาของหัวหน้า หรือปัญหานโยบายของฝ่ายบริหาร ฯลฯ มาให้ท่านได้ข้อมูลอีกเพียบเพื่อให้ท่านได้คิดและตัดสินใจให้ดีว่าสมควรจะรับผู้สมัครคนนี้เข้าทำงานกับเราดีหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่น

            นี่แหละครับ ความสำคัญของการสังเกตภาษากายของผู้สมัครงานแบบยกตัวอย่างง่าย ๆ ซึ่งถ้าคนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ไม่สังเกตผู้สมัครงานให้ดี ก็อาจจะมองข้ามไปและทำให้ตัดสินใจผิดพลาดรับคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาทำงานแล้วก็เกิดปัญหาต่อไปในอนาคตให้ต้องมาตามล้างตามเช็ดกันอีก

แต่ถ้ากรรมการสัมภาษณ์มีทักษะในการอ่านภาษากายแล้วแม้ว่าผู้สมัครจะพยายามพูดตอบคำถามให้ดูดีแค่ไหน แต่ถ้าภาษากายขัดแย้งกับการพูดโต้ตอบ ก็จะทำให้การพิจารณาคัดเลือกคนที่เหมาะสมมีความแม่นยำถูกต้องมากยิ่งขึ้น

            ซึ่งทักษะการอ่านภาษากายประกอบการสัมภาษณ์นี้อยู่ที่การฝึกฝน เพราะการสัมภาษณ์เป็น “ทักษะ” ยิ่งฝึกฝนบ่อยก็จะเกิดความชำนาญ....ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์นะครับ !

            หมายถึงว่าถ้าไม่ค่อยได้ซ้อมหรือไม่ค่อยได้สัมภาษณ์หรือฝึกการอ่านภาษากายก็จะขาดทักษะการสัมภาษณ์นั่นเอง เหมือนกับนักดนตรี, นักกีฬา, ดารานักแสดงทั้งหลายที่จะขึ้นเวที, เข้ากล้องก็ยังต้องซ้อม ซ้อม และซ้อมให้เกิดทักษะหรือความชำนาญจนมั่นใจก่อนขึ้นเวทีหรือก่อนเข้ากล้องเลย

            แล้วถ้ากรรมการสัมภาษณ์ไม่ค่อยได้ซ้อม หรือขาดทักษะการสัมภาษณ์โดยเฉพาะทักษะการอ่านภาษากายล่ะ..องค์กรจะได้คนที่มีความชำนาญในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงานได้ยังล่ะครับ

            ผมหวังว่าคนที่จะต้องเป็นกรรมการสัมภาษณ์เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้วคงจะเริ่มเห็นความสำคัญของการสังเกตและอ่านภาษากายของผู้สมัครงานกันบ้างแล้วนะครับ


................................................