วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทำไมใบสมัครงานต้องให้ระบุเงินเดือนที่ต้องการ ?

           ต้องขอภัยท่านผู้อ่านที่ติดตามบล็อกนี้ทุกสัปดาห์ด้วยนะครับที่ขาดหายไปสองสัปดาห์เนื่องจากผมหลบไปชาร์ทแบตฯให้กับตัวเองเลยทำให้หายไปพักหนึ่ง ตอนนี้แบตฯเต็มพร้อมกลับมาแชร์ความรู้และประสบการณ์กันเหมือนเดิมแล้วก็ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องเบา ๆ ก่อนที่เกี่ยวกับด่านแรกของการสมัครงานเลยนะครับ....

          ผมไปเห็นคำถามนี้ในเว็บไซด์แห่งหนึ่งซึ่งผู้ถามก็บอกต่อมาว่าตัวเองไม่กล้าใส่เงินเดือนที่ต้องการลงในใบสมัครเพราะถ้าใส่เงินเดือนมากก็กลัวว่าจะมากไปในสายตาของบริษัท แต่ถ้าจะใส่เงินเดือนน้อยก็กลัวว่าตัวเองจะเงินเดือนไม่พอใช้ ก็เลยสงสัยว่าแล้วทำไมแต่ละบริษัทไม่ประกาศไปเลยว่าในตำแหน่งที่รับสมัครนั้น ๆ อัตราเงินเดือนเท่าไหร่ จะได้รู้ตรงกันไปเลยผู้สมัครจะได้ไม่ต้องมาใส่เงินเดือนที่ต้องการแถมทำให้ผู้สมัครงานกระอักกระอ่วนใจแบบนี้

            ผมเห็นว่าคำถามนี้น่าสนใจดีก็เลยอยากจะบอกเล่าให้เจ้าของคำถามนี้รวมถึงคนที่สงสัยในเรื่องนี้ในมุมมองของผมเพื่อให้เข้าใจตรงกันอย่างนี้ครับ

1.      ผมเคยอธิบายหลักการจ่ายค่าตอบแทนไปแล้วว่าในองค์กรต่าง ๆ จะจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินเดือนโดยใช้หลัก

เงินเดือน                       =          P+C     หรือ
เงินเดือน                        =          Performance (ผลงาน)+Competency(ความสามารถ)
(หาอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จาก “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกันเงินเดือน” ใน Blog ของผมหมวดการบริหารค่าตอบแทนนะครับ)
ซึ่ง P+C นี่แหละครับคือตัวก็กำหนดคุณค่าหรือมูลค่าในตัวคน ๆ นั้น หรือในวันนี้มีคำเรียกให้หรู ๆ ว่า “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ซึ่งในที่นี้ก็คือทุนที่อยู่ในตัวของผู้สมัครรายนี้นั่นเองที่องค์กรนั้นมองเห็นทุน (คือความสามารถที่มีอยู่ในตัวแต่ละคน) และคิดว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กับคน ๆ นั้นน่ะเหมาะสมที่ราคานี้แล้ว

2.      จากเหตุผลตามข้อ 1 ผู้สมัครงานจึงควรจะต้องประเมินคุณค่าหรือมูลค่าในตัวเองให้ได้ว่าเรามี “ทุน” อยู่มากหรือน้อยแค่ไหน หมายถึงว่าเรามีผลงานที่ดีที่เคยทำมาในอดีตอะไรที่เอาไว้อวดใครได้ หรือมีขีดความสามารถมีความรู้มีประสบการณ์มีทักษะในการทำงานนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน และถ้าหากเราจะไปทำงานในที่ใหม่ (คือบริษัทที่เราไปสมัครงานอยู่นี้น่ะ) เราควรจะกำหนดอัตราเงินเดือนที่เราต้องการที่เหมาะสมกับคุณค่า (P+C) ที่มีอยู่ในตัวเราแค่ไหนถึงจะจูงใจให้บริษัทนั้น ๆ สนใจ

ตรงนี้แหละครับคือความมั่นใจในคุณค่าหรือมีต้นทุนของตัวผู้สมัครงานเองว่ามีอยู่เท่าไหร่ ถ้าผู้สมัครงานใส่เงินเดือนที่ต้องการมากกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันก็ต้องตอบคำถาม (ซึ่งก็คือการขาย P+C ในตัวเอง) กรรมการสัมภาษณ์ให้เขาเห็นด้วยหรือคล้อยตามให้ได้ว่าตัวของผู้สมัครเองมีผลงาน (P) และมีความสามารถ (C) ขนาดไหน ซึ่งถ้าหากผู้สมัครงานไม่ใส่เงินเดือนที่ต้องการในใบสมัครก็แสดงว่าแม้แต่ผู้สมัครงานเองก็ยังไม่รู้ (หรือไม่มั่นใจ) เลยว่าตัวเองมีคุณค่าหรือมีทุนในตัวอยู่เท่าไหร่ อย่างนี้แล้วจะให้ใครมามั่นใจในคุณค่าในตัวของเขาได้อีกล่ะครับ

3.      จากข้อ 2 ผมเปรียบเทียบเหมือนกับว่าถ้าท่านอยากจะกินส้มแล้วไปซื้อส้มที่ตลาดพอถามแม่ค้าว่าส้มกิโลละเท่าไหร่ ถ้าแม่ค้าตอบมาว่าแล้วแต่เงินในกระเป๋าของลูกค้า ก็แสดงว่าตัวแม่ค้าเองก็ยังไม่มั่นใจไม่รู้เลยว่าต้นทุนของส้มที่ตัวเองจะขายน่ะมีอยู่กี่บาท และควรจะขายกี่บาทถึงจะเหมาะสม ดังนั้นถ้าแม่ค้า (ซึ่งเปรียบเสมือนกับผู้สมัครงาน) มั่นใจว่าส้มของตัวเองดีมีคุณภาพสมมุติว่ามีต้นทุนอยู่ที่กิโลละ 50 บาทก็บอกไปเลยว่าส้มที่ขายกิโลละ 100 บาท พร้อมกับต้องขายให้ผู้ซื้อ (ซึ่งก็คือผู้สัมภาษณ์) เห็นในคุณค่าของส้มนี้ให้ได้ว่ามันวิเศษหรือมีดียังไงถึงได้ขายถึงกิโลละร้อย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ซื้ออาจจะมีการต่อรองกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าคนขายไม่บอกว่าอยากจะขายเท่าไหร่แล้วให้คนซื้อมาตั้งราคาแทนอย่างนี้คนขายก็มีโอกาสขาดทุนสูงจริงไหมครับ

4.      การที่แต่ละบริษัทไม่บอกอัตราเงินเดือนของตำแหน่งที่รับสมัครก็เพราะในตำแหน่งต่าง ๆ นั้นจะมีคุณสมบัติที่ต้องการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน,  ผลงาน, ความรู้ความสามารถของผู้สมัครแต่ละราย แต่ในบริษัทที่มีการวางระบบค่าตอบแทนที่ดีมีโครงสร้างเงินเดือน เขาจะมีกรอบการจ่ายในทุกตำแหน่งงานไว้อยู่แล้วแต่จะเป็นช่วง (Range) เงินเดือนซึ่งแปรตาม P+C ของผู้สมัครงานแต่ละคนเพราะผู้สมัครแต่ละคนจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครที่มีประสบการณ์แล้วมาสมัครงานในตำแหน่งเดียวกันนี้แล้วบริษัทจะตั้งเงินเดือนให้เท่ากันหมดทุกคนนะครับ

อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องเงินเดือนจะถือว่าเป็นความลับของทุกบริษัท ถ้าหากบอกออกไปว่าตำแหน่งไหนรับสมัครอัตราเงินเดือนเท่าไหร่ในประกาศรับสมัครงานก็จะทำให้คู่แข่งรู้อัตราการจ่ายและสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการซื้อตัวพนักงานกันได้ง่ายยิ่งขึ้น (สำหรับตำแหน่งที่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน)

          สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือคงไม่มีบริษัทไหนอยากจะบอกอัตราเงินเดือนในตำแหน่งนั้น ๆ (สำหรับตำแหน่งที่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน) กับผู้สมัครงานซึ่งบริษัทเองก็ยังไม่รู้ว่าจะตัดสินใจรับเข้าทำงานหรือเปล่า ยิ่งถ้าผู้สมัครเอามาโพสในกระทู้ยอดนิยมว่าไปสมัครงานที่บริษัทนี้มา ตำแหน่งนี้ เขาบอกว่าให้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ล่ะก็นอกจากคู่แข่งจะนำไปใช้เป็นข้อมูลซื้อตัวพนักงานที่ผมบอกไปแล้ว แถมยังจะทำให้พนักงานที่ทำงานในบริษัทในตำแหน่งเดียวกันนี้ แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่าก็จะเกิดปัญหาได้ว่าทำไมตัวเองได้เงินเดือนน้อยว่าที่ผู้สมัครเอาไปโพสบอกไว้ในกระทู้เดี๋ยวก็มีดราม่าเกิดขึ้นอีกเพราะเงินเดือนเราได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับคนอื่นได้เท่าไหร่นี่ครับ

          จากเหตุผลที่ผมอธิบายมานี้แหละครับบริษัทต่าง ๆ ถึงต้องให้ผู้สมัครควรจะต้องระบุเงินเดือนที่ต้องการโดยผู้สมัครจะต้องประเมินคุณค่าและความมั่นใจในคุณค่าของตัวเองให้เหมาะสมว่าควรจะแจ้งไปในใบสมัครว่าต้องการเงินเดือนเท่าไหร่ และเตรียมตัวไปขายความสามารถให้บริษัทที่ตัวเองไปสมัครงานซื้อให้ได้คล้าย ๆ กับแม่ค้าที่จะต้องมั่นใจที่จะบอกราคาขายส้มของตัวเองด้วยความมั่นใจในคุณค่าและคุณภาพของสินค้านั่นแหละครับ

            อธิบายมาขนาดนี้แล้วก็หวังว่าคนที่สงสัยในเรื่องนี้จะเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ


…………………………………