วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559

วันสงกรานต์ห้ามหยุด..ใครหยุดหักเงิน 1.5 เท่า !

            ผมไปอ่านเรื่องนี้เจอในกระทู้ดังแห่งหนึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนทำงานก็เลยอยากจะนำมาแชร์เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างเพื่อจะได้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไปด้วยครับ

            เรื่องของเรื่องก็คือในบริษัทแห่งหนึ่งออกประกาศช่วงต้นเดือนเมษายนขอความร่วมมือจากพนักงานให้มาทำงานในช่วงสงกรานต์เพราะบริษัทจะต้องเปิดให้บริการลูกค้า ถ้าพนักงานคนไหนฝ่าฝืนบริษัทจะหักเงินในวันที่พนักงานหยุด (ในช่วงสงกรานต์) 1.5 เท่า (พูดง่าย ๆ ว่าจะถ้าหยุด 1 วันบริษัทจะหักเงินเดือนวันครึ่งแหละครับ)

            แถมเจ้าของกระทู้ไปดูประกาศวันหยุดของบริษัทก็พบว่าในประกาศดังกล่าวไม่มีวันหยุดในช่วงสงกรานต์เสียด้วย แต่ไม่ได้บอกมาว่าบริษัทแห่งนี้จัดวันหยุดประเพณีให้กับพนักงานปีละ 13 วันหรือเปล่า

            ผมเลยขออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับวันหยุดประเพณีให้ดังนี้ครับ

1.      ตามมาตรา 29 ของกฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติไว้ด้วย ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าบริษัทแห่งนี้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างมีวันหยุดประเพณีน้อยกว่า 13 วันก็ผิดกฎหมายแรงงานครับ

2.      ในวรรคสองของมาตรานี้ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี, วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ดังนั้นสมมุติว่านายจ้างไปประกาศว่าวันที่ 1 มิถุนายนเป็นวันหยุดประเพณีก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามวรรคสองของมาตรานี้ครับ

3.      วรรคสามของมาตรานี้กรณีวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดประเพณีนี้ในวันทำงานถัดไป ในเรื่องนี้ท่านคงเข้าใจได้โดยผมไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มนะครับเพราะความหมายตรงตัวชัดเจน

4.      กรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

ในวรรคนี้เราคงต้องมาดูกันในเรื่องแรกก่อนว่า “งานที่กำหนดในกฎกระทรวง” มีงานอะไรบ้างที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้

ผมก็เลยไปดูกฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ.2541 เขาบอกไว้ว่างานที่มีลักษณะหรือสภาพที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดได้ในวันหยุดประเพณีมีอยู่ 2 ข้อหลัก ๆ คือ
1.      งานในกิจการโรงแรม มหรสพ ร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และสถานบริการการท่องเที่ยว

2.      งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน

ซึ่งก็ต้องมาดูว่าลักษณะงานของผู้ตั้งกระทู้เข้าข่ายลักษณะงานตามกฎกระทรวงนี้หรือไม่ ถ้าเข้าข่าย แล้วบริษัทสั่งให้มาทำงานในวันหยุดประเพณีพนักงานก็ต้องมาทำแหละครับ

แต่....บริษัทจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ตามกฎหมายแรงงานด้วยนะครับ พูดภาษาคนทำงานคือพนักงานต้องได้ “ค่าโอ” (โอที) นั่นแหละครับ

หรือถ้าบริษัทไม่จ่ายค่าโอทีให้ บริษัทก็ต้องจัดให้พนักงานหยุดชดเชยในวันอื่นให้กับพนักงานที่มาทำงานในวันหยุดประเพณีแทนก็ได้ครับ

ส่วนที่บริษัทประกาศว่าถ้าพนักงานคนไหนไม่มาทำงานในวันหยุดสงกรานต์แล้วบริษัทจะหักเงินเดือน 1.5 เท่านั้น ผิดกฎหมายแรงงานครับ ! เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

ดังนั้นนายจ้างจะไปเขียนกฎระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายแรงงานก็ไม่มีผลใช้บังคับ แถมถ้านายจ้างขืนไปทำตามที่ประกาศ แล้วลูกจ้างไปฟ้องศาลแรงงานก็มีหวังแพ้คดีเสียชื่อเสียงของบริษัทอีกต่างหาก

ผมตั้งข้อสังเกตว่าHR ในบริษัทแห่งนี้คงไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน หรืออาจจะรู้แต่ไม่กล้าแย้งนายถึงได้ปล่อยให้มีประกาศเฉิ่ม ๆ ทำนองนี้ออกมาซึ่งคนที่เป็น HR มืออาชีพจะต้องกล้าบอกกล้าทักท้วงฝ่ายบริหารในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตเอาไว้ด้วย เพราะนี่คือคุณค่าของคนทำงาน HR ที่มีความเป็นมืออาชีพครับ

ผมไม่รู้ว่าผู้บริหารคนไหนในบริษัทแห่งนี้เป็นคนต้นคิดนะครับ เรื่องการหักเงินเดือนพนักงานเนี่ยะ แต่อยากจะแนะนำให้ผู้บริหารเหล่านี้ไปเข้าคอร์สกฎหมายแรงงานซะบ้างจะได้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ไม่ใช่ตั้งกฎระเบียบแบบตามใจฉันอย่างนี้พอคิดอะไรไม่ออกก็หักเงินเดือนพนักงานเอาไว้ก่อน วิธีคิดทำนองนี้นอกจากผิดกฎหมายแรงงานแล้วยังทำให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ตามมาอีกด้วย ซึ่งการบริหารงานบุคคลในยุคใหม่เขาเน้นความร่วมมือมากกว่าการลงโทษด้วยการหักเงินเดือน 

การหักเงินเดือนลูกจ้างของบริษัทต่าง ๆ ที่ผมเจอมาหลายแห่งก็มักจะผิดกฎหมายแรงงานเสียอีก (เพียงแต่พนักงานไม่รู้เท่านั้นเอง) แทนที่จะใช้วิธีหักเงินเดือน บริษัทก็ไปพิจารณาเรื่องของการให้โบนัสประจำปี, การขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งแทนสำหรับพนักงานที่ให้ความร่วมมือหรือไม่ร่วมมือจะดีกว่าไหมครับ

หวังว่าคราวนี้ในวันหยุดประเพณีอื่น ๆ ในครั้งต่อ ๆ ไป ทั้งนายจ้างและลูกจ้างคงจะเข้าใจหลักและวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ตรงกันแล้วนะครับ


…………………………….