วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

จะฝากอนาคตการทำงานของเราไว้กับใคร ?

            ผมเขียนเรื่องนี้เพราะไปได้ยินคำถามหนึ่งว่า....

            “เป็นพนักงานในบริษัท Outsource แห่งหนึ่งมาประมาณ 7 ปีแล้ว ซึ่งบริษัท Outsource แห่งนี้ก็เพิ่งประมูลได้งานจากบริษัทผู้ว่าจ้างให้ส่งพนักงาน Outsource ไปทำงานในบริษัทลูกค้ารายนี้ แต่เนื่องจากบริษัท Outsource ต้องแข่งขันในการประมูลงานกับรายอื่น ๆ จึงทำให้ต้องเสนอราคาโดยตัดราคากับคู่แข่ง ก็เลยทำให้บริษัท Outsource ต้องมาขอลดเงินเดือนพนักงาน Outsource ลง พนักงาน Outsource ก็เลยมีคำถามว่าจะยอมลดเงินเดือนลงดีหรือไม่”

            ก็คงมีคำตอบและข้อคิดอย่างนี้นะครับ

1.      การลดค่าจ้างลูกจ้างลงนั้นถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมนายจ้างไม่สามารถลดค่าจ้างลงได้เพราะผิดกฎหมายแรงงาน ดังนั้นถ้าพนักงาน Outsource ไม่ยินยอมแล้วทางบริษัท Outsource ต้นสังกัดมาลดเงินเดือนลงก็สามารถไปร้องเรียนกับแรงงานเขตพื้นที่ให้เขาเข้ามาตรวจสอบได้ครับ

2.      พนักงาน Outsource รายนี้คงต้องหันกลับมาถามตัวเองดูว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในตอนนี้ เราอยู่กับบริษัท Outsource นี้มาตั้ง 7 ปีแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่เราดีขึ้นหรือเปล่า, เรามีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อเทียบกับเมื่อ 7 ปีที่แล้ว, เราถนัดหรือเราเก่งมีความสามารถในเรื่องไหนบ้าง, เรากำลังฝากอนาคตฝากชีวิตความก้าวหน้าของเราไว้กับบริษัท Outsource ไว้เพียงเท่านั้นหรือ ?

         จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ผมมักจะพบว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยวางแผนชีวิตให้กับตัวเองแต่จะคิดวางแผนการทำงาน (หรือบ่อยครั้งก็ไม่เคยวางแผนการทำงานด้วยซ้ำไป) ไปแบบวันต่อวัน ว่าวันนี้จะต้องทำอะไร พรุ่งนี้ต้องทำอะไร ฯลฯ  

            ไม่เคยแม้แต่จะทบทวนตัวเองว่าเรามีความสามารถ มีความสนใจ มีความถนัดในเรื่องไหนที่จะพัฒนาให้มันเก่งหรือดีมากขึ้นเพื่อที่จะได้กลายเป็นอนาคตที่มั่นคงของตัวเราเอง

            พูดง่าย ๆ คือจะฝากอนาคตของตัวเองไว้กับบริษัทบ้าง, ฝากไว้กับหัวหน้าบ้าง, ฝากไว้กับโชคชะตาฟ้าลิขิตบ้าง ฯลฯ

            พอไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง, ไม่ก้าวหน้า, ไม่ได้รับการปรับเงินเดือนให้สูงขึ้น หรืออย่างในกรณีนี้คือถูกลดเงินเดือนลง ก็จะมาคิดน้อยอกน้อยใจว่าทำไมเราไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง, ทำไมหัวหน้าไม่สนับสนุนเราให้เลื่อนขึ้นมา, ทำไมเราได้ขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อน ๆ หรือทำไมบริษัทถึงมาลดเงินเดือนเราลง ฯลฯ

            ถ้ายังมีวิธีคิดแบบนี้ก็บอกได้ว่าเรากำลังฝากอนาคตของเราไว้ที่คนอื่นนะครับ !!

          ซึ่งผมอยากจะบอกว่าคนที่จะทำให้เราก้าวหน้า ทำให้เราดีขึ้นกว่านี้คือตัวของเราเอง !

          ฟ้าลิขิตไม่สู้คนลงมือทำหรอกครับ !

            แทนที่จะเอาเวลามานั่งคิดน้อยอกน้อยใจ หรือจิตตกเพราะปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เหล่านั้น เราสู้เอาเวลากลับมาคิดทบทวนในปัจจัยที่เราควบคุมได้หรือตัวเราเองไม่ดีกว่าหรือครับ

            เช่น....

1.      ทัศนคติคือทุก ๆ อย่างในชีวิต ต้องมองหาโอกาสให้กับตัวเองอยู่เสมอ อย่ามัวแต่ทำงานประจำไปวัน ๆ โดยไม่มองหาโอกาสให้กับตัวเองหรือมีทัศนคติอยู่แค่ว่า “อย่างเราคงจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้หรอก เป็นพนักงานอย่างนี้ไปก็ดีอยู่แล้ว....” ถ้ามีทัศนคติแบบนี้ก็คงต้องฝากอนาคตไว้กับคนอื่นตลอดไปแหละครับ

2.      เรามีความสามารถหรือความถนัดหรือความสนใจในเรื่องไหน แล้วเราจะพัฒนาความสามารถของเรายังไงให้เกิดประโยชน์กับตัวเราให้มากที่สุด เช่น ถ้าเราสนใจเรื่องของต้นไม้เราก็หาข้อมูลของต้นไม้ที่เราสนใจ คิดดูว่าถ้าเราจะแปรความสนใจในเรื่องต้นไม้ให้เป็นธุรกิจมันจะมีทางไหนได้บ้าง และจะทำได้อย่างไร, ช่องทางการขายมีทางไหนได้บ้าง เช่น การขายต้นไม้โดยริวิวต้นไม้แปลกๆ (ที่เรามีความรู้ในเรื่องนี้ดี) ผ่านสื่อออนไลน์ ฯลฯ แล้วเราก็อาจจะเริ่มจากอาชีพเสริมเกี่ยวกับการขายต้นไม้ดูว่ามันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น สิ่งสำคัญในข้อนี้คือเราต้องหาสิ่งที่เราถนัดหรือความสามารถที่มีในตัวเราให้เจอเสียก่อนว่าคือเรื่องอะไรแล้วจึงต่อยอดความสามารถนี้ออกไปให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา

3.      คนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพ หรือเป็นเจ้าของกิจการก็ล้วนแต่ต้องเป็นคนที่กระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คนเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างระหว่างตัวเองกับคนรอบข้างได้ จะมีความแปลกใหม่ที่แตกต่าง (ในทางดี) อยู่เสมอ ๆ ทำให้หัวหน้าผู้บังคับบัญชา หรือลูกค้ายอมรับความสามารถที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ถึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หรือลูกค้ายอมรับในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ส่วนคนที่ทำงานแบบ Routine ไปแบบวัน ๆ ก็จะไม่มีความแตกต่างอะไรกับคนที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นก็ไม่แปลกที่หัวหน้าจะไม่เห็นความสำคัญอะไรที่จะต้องมาเลื่อนตำแหน่งอะไรให้กับคนที่ทำงานให้เสร็จสิ้นไปแบบวัน ๆ

4.      การพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีความรู้รอบตัวดี เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดแบบรู้ลึก-รู้จริง จะทำให้เกิดการยอมรับได้เสมอ

5.      ต้องไม่ลืมความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ตัวเองให้คนอื่น ๆ ได้รู้ด้วยว่าตัวเองทำงานอะไร มีความสามารถอะไรบ้าง เพราะคนหลายคนอาจจะทำงานเก่ง มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่เคยประชาสัมพันธ์ให้คนอื่น ๆ ได้รู้เลยว่าเขามีผลงานอะไรบ้างก็จะกลายเป็นคนที่โลกลืมไปด้วย แต่การประชาสัมพันธ์ตัวเองนี้ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องอวดอ้างหรือขี้คุยนะครับ ต้องดูกาลเทศะที่เหมาะสม แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีเพื่อบอกให้คนอื่น ๆ ได้รู้ว่าเขามีอะไรดีหรือเชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องไหนเพื่อให้เกิดการยอมรับว่าเป็น Signature ของตัวเราเอง เช่น เมื่อพูดถึงกล้วยไม้ก็จะต้องยอมรับความเชี่ยวชาญของท่านอาจารย์ระพี สาคริก เป็นต้น

            เท่าที่ผมนึกออกในตอนนี้คงมีเท่านี้แต่เชื่อว่าเมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วท่านน่าจะได้ไอเดียและคิดต่อยอดในการพัฒนาตัวเองให้ไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้โดยไม่ต้องฝากชีวิตเราไว้กับคนอื่นแล้วนะครับ

          ก็อย่างที่พระท่านบอกว่า “ตนเป็นที่พึงแห่งตน” นั่นแหละครับ


…………………………….