วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

เราสามารถออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้ค่าสูงสุด (Max) ของกระบอกเงินเดือนปัจจุบัน เท่ากับค่าต่ำสุด (Min) ของกระบอกถัดไปได้หรือไม่ ?

ปกติเมื่อออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแล้วเรามักจะเห็นว่าโครงสร้างเงินเดือนจะมีส่วนเหลื่อมของกระบอกเงินเดือนกันอยู่ซึ่งเราเรียกส่วนเหลื่อมนี้ว่า "Overlap" แต่มีคำถามมาว่าถ้าจะออกแบบโครงสร้างเงินเดือนโดยไม่ต้องมีส่วนเหลื่อมหรือ Overlap นี้จะทำได้หรือไม่ โดยการกำหนดให้ค่า Max ของกระบอกเงินเดือนปัจจุบันไปเท่ากับค่า Min ของกระบอกเงินเดือนถัดไป

ซึ่งเมื่อทำอย่างนี้แล้วก็จะไม่ทำให้เกิด Overlap ยังไงล่ะครับ !

ถ้าถามมาว่าจะออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่ให้มี Overlap นั้นได้หรือไม่

คำตอบก็คือ "ได้ครับ" แต่....

แต่ผมคงต้องถามกลับไปว่า "จะออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบที่ว่ามานี้ไปเพื่ออะไร" ครับ

ถ้าคำตอบว่าออกแบบไปเพื่อความสวยงามจะได้ไม่มีส่วนเหลื่อมของกระบอกเงินเดือน

ผมว่าก็คงจะเป็นความสวยที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้หรือเปล่าครับ ?

เรามาดูกันสิครับว่าถ้าหากเราออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบไม่ให้มีส่วนเหลื่อม (Overlap) ของกระบอกเงินเดือนนั้นจะมีผลยังไงกันบ้าง

ดังนี้ครับ....

1. บริษัทก็จะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (Staff Cost) สูงขึ้นเวลามีพนักงานเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไป เพราะจะมีโอกาสปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่เลื่อนชั้นสูงขึ้นไปเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าปกติ ผมยกตัวอย่างในหลายบริษัทมักจะมีหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งเช่น จะปรับเงินเดือนให้ 10 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกินค่ากลาง (Midpoint) ของกระบอกเงินเดือนถัดไป

เช่น สมมุติว่าเราออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้มีโครงสร้างเงินเดือนกระบอกที่ 1 มีอัตรา Min=8,000 และ Max=12,000 กระบอกนี้จะมีค่ากลาง (Midpoint) = 10,000 บาท (สูตรหา Midpoint ก็คือ Max+min หาร 2 ท่านคงยังจำได้นะครับ)

โครงสร้างเงินเดือนกระบอกที่ 2 ที่อยู่ถัดขึ้นไปมีอัตรา Min=12,000 (มีอัตรา Min เท่ากับ Max ของกระบอกที่ 1 พอดี ซึ่งจะทำให้ไม่มีส่วนเหลื่อมหรือ Overlap ยังไงล่ะครับ) และมีอัตราสูงสุด (Max)=18,000 ก็จะมีค่ากลางเท่ากับ 15,000 บาท

ท่านก็จะเห็นว่าจากตัวอย่างดังกล่าวจะไม่มีส่วนเหลื่อมหรือ Overlap และจะมีค่าความต่างระหว่างค่ากลางหรือที่เราเรียกว่า "Midpoint Progress" อยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ (คำนวณได้จากสูตร Midpoint Progress=Midpoint กระบอกสูงกว่า ลบ Midpoint กระบอกต่ำกว่า หาร Midpoint กระบอกต่ำกว่า แล้วคูณด้วย 100 ค่าที่ได้ออกมาจะเป็นเปอร์เซ็นต์ครับ)

แสดงว่าถ้าบริษัทนี้มีหลักเกณฑ์ในการเลื่อนชั้นจากกระบอกที่ 1 ไปกระบอกที่ 2 ว่า "ให้ปรับเงินเดือนขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน Midpoint ของกระบอกเงินเดือนถัดไป" ผมสมมุติว่า นายอดุลย์ตอนนี้เงินเดือน 12,000 บาทซึ่งได้เงินเดือนสูงสุดของกระบอกเงินเดือน 1 ได้รับการเลื่อนไปที่กระบอกเงินเดือน 2 นายอดุลย์ก็จะได้รับการปรับเงินเดือน 10 เปอร์เซ็นต์ คือ 12,000x10%=1,200 คิดเป็นเงินเดือนใหม่คือ 13,200 บาท (เพราะยังไม่เกินค่ากลางของกระบอกใหม่คือ 15,000 บาท)

แต่ถ้าสมมุติว่ากระบอกเงินเดือน 1 และ 2 มีส่วนเหลื่อมกันคือ กระบอกที่ 2 มี Min=10,000 บาท (Min ของกระบอกที่ 2 เท่ากับค่ากลางของกระบอกที่ 1 ทำให้มีส่วนเหลื่อมกันอยู่) และMax=15,000 บาท กระบอกเงินเดือน 2 ใหม่นี้จะมีค่ากลางเท่ากับ 12,500 บาท ถ้าหากนายอดุลย์ปัจจุบันมีเงินเดือน 12,000 บาท แล้วได้เลื่อนขึ้นไปในกระบอกที่2 ก็จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนเนื่องจากเงินเดือนเกินค่ากลางของกระบอกที่ 2 (คือ 12,500 บาท) จะทำให้บริษัทไม่ต้องมี Staff Cost ที่สูงขึ้นเนื่องจากการปรับเงินเดือนในครั้งนี้ครับ

2. จากข้อ 1 ผมยกตัวอย่างของคนที่เงินเดือนสูงสุดคือเงินเดือนชนเพดานของกระบอกที่ 1 แล้วได้ Promote เพียง 1 รายนะครับ ท่านลองคิดดูว่าถ้าเป็นพนักงานรายอื่นที่เงินเดือนอยู่แถว ๆ ค่ากลางของกระบอกที่ 1 (คือประมาณ 10,000 บาท) แล้วได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นมาในกระบอกที่2 ล่ะ ?
ถ้าปรับให้เขา 10 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้เพียง 10,000x10%=1,000 บาท เงินเดือนใหม่คือ 11,000 บาท ยังไม่ถึงอัตราเริ่มต้น (Min) ของกระบอกที่ 2 เลย ทั้ง ๆ ที่เขาต้องมีค่างานและความรับผิดชอบในระดับที่2 ก็จะทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการทำงาน และเท่ากับบริษัทกำลังจ่ายค่าตอบแทนแบบต่ำกว่าค่าของตลาด (Under Paid) ที่เขาจ่ายกับอยู่ด้วย ซึ่งในที่สุดก็ไม่อาจจะรักษาคน ๆ นี้ไว้กับองค์กรได้เพราะเขาจะรู้สึกว่าค่างานความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นแต่ฉันยังได้น้อยกว่าอัตราเริ่มต่ำสุดของกระบอกที่2 เลย ก็จะทำให้รู้สึกไม่ยุติธรรมครับ

3. การออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบตัวอย่างที่ผมบอกมานี้แสดงว่าค่างานระหว่างกระบอกที่ 1 และ 2 มีความแตกต่างกันมาก (สังเกตจาก Midpoint Progress ที่มีค่า 50 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งค่ามาตรฐานทั่วไปควรอยู่ระหว่าง 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างสูง (ถ้าจะให้สวย ๆ ควรอยู่ที่ค่าประมาณ 30-35 เปอร์เซ็นต์) เพราะหากมีค่า Midpoint Progress สูงมากเกินไปก็จะทำให้บริษัทมี Staff Cost สุงมากขึ้นในการปรับเงินเดือนพนักงานกรณีเลื่อนตำแหน่ง แต่ถ้าต่ำเกินไปก็จะไม่จูงใจให้พนักงานอยาก Promote เพราะจะมีโอกาสได้ปรับเงินเดือนเนื่องจากการเลื่อนตำแหน่งลดลง (แม้ว่าบริษัทจะประหยัด Staff Cost ไปได้บ้างก็ตาม)

จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นคำตอบว่าในทางปฏิบัติแล้ว ในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนไม่ควรออกแบบให้ค่า Max ของกระบอกปัจจุบันเท่ากับค่า Min ของกระบอกเงินเดือนถัดไป โดยไม่ให้มีส่วนเหลื่อมครับ !


.........................................................