วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โอทีเหมาจ่าย..ทำได้หรือไม่ ?

            การทำงานล่วงเวลา หรือที่เรามักจะเรียกย่อ ๆ กันจนติดปากว่า “โอที” หรือ “ทำโอ” (มาจากคำว่า Overtime-OT) คงเป็นที่คุ้นเคยของคนทำงานกันอยู่แล้วนะครับ อันที่จริงแล้วคำว่าโอทีเป็นภาษาพูดซึ่งจะกินความรวม 3 เรื่องคือ การทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ, การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งเคยมีผู้รู้ผู้อ่านบางท่านบอกผมว่าคำว่า “โอที” นั้นต้องหมายถึงเพียงการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดเท่านั้น ส่วนการทำงานในวันหยุดเขาไม่เรียกว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา แต่ก็เอาล่ะนะครับเนื่องจากผมเป็นผู้ปฏิบัติมาโดยตลอดชีวิตการทำงานและคนทำงานก็มักจะเรียกการทำงานทั้ง 3 อย่างนี้รวม ๆ กันว่า “โอที” ซึ่งจะเข้าใจตรงกันในหมู่คนทำงานผมก็เลยขออนุญาตเรียกรวม ๆ ไปแบบนี้นะครับ แม้ว่าอาจจะขัดใจในเชิงวิชาการไปบ้างคงไม่ถือสากันนะครับ

ซึ่งการทำงานล่วงเวลานั้นก็จะต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ด้วยนะครับ (ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พศ.2541) อย่าทำกันจนเพลินเกินกฎหมายกำหนดล่ะ !

เรามาเข้าประเด็นกันตามหัวข้อในวันนี้กันดีกว่า....

บริษัทของท่านมีโอทีเหมาจ่ายกันบ้างไหมครับ ?

 โอทีเหมาจ่ายในความหมายของผมก็คือแทนที่บริษัทจะจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดคือจ่ายให้ 1.5 เท่าของค่าจ้างกรณีทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ, 1 เท่ากรณีให้มาทำงานในวันหยุด และ 3 เท่าของค่าจ้างในกรณีให้ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด (ให้ท่านไปดูมาตรา 60-66 ในกฎหมายแรงงานประกอบด้วยนะครับ)

ถ้าบริษัทไหนทำตามกฎหมายอย่างที่ผมบอกมาก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่มีปัญหาตรงที่ไมทำตามที่กฎหมายเขากำหนดนี่สิครับทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

บริษัทแห่งหนึ่ง จ้างนายอุทัย (นามสมมุติ) ทำหน้าที่พนักงานขับรถของผู้บริหาร ซึ่งต้องขับรถไปรับนายที่บ้านตอนเช้า และต้องขับไปส่งที่บ้านนายตอนเย็นหรือดึก ๆ ซึ่งเวลาทำงานปกติของบริษัทคือ 8.00-17.00 น. แต่การไปรับนายที่บ้านตอนเช้าและไปส่งที่บ้านนายตอนเย็นโดยข้อเท็จจริงก็เช่น

ในตอนเช้า นายอุทัยจะต้องไปถึงบ้านนายตั้งแต่ 6.00 น.(ก่อนเวลาเริ่มงานปกติของบริษัทคือ 8.00 น.) และเย็นก็ต้องไปส่งนายที่บ้านซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะไปถึงบ้านนายก็เลย 17.00 น. ถ้านายไปมีนัดกับลูกค้า หรือไปประชุมต่อตอนเย็นหรือค่ำ ๆ ดึก ๆ อีกล่ะ นี่ยังไม่รวมในวันหยุด นายนัดลูกค้าไปตีกอล์ฟเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ต่างจังหวัด นายอุทัยก็ต้องเป็นพลขับไปให้ก็ต้องเบิกค่าทำงานในวันหยุดอีก

ทางบริษัทคงจะมาคิดคำนวณตัวเลขโอทีที่จะต้องจ่ายให้นายอุทัยแต่ละเดือนแล้วอาจจะเห็นว่าถ้าจ่ายแบบนี้บริษัทอาจจะทำให้นายอุทัยเป็นเสี่ยได้ภายในเวลาไม่นานเพราะรวยโอที หรืออาจจะคิดว่าต้องมายุ่งวุ่นวายกับงานเอกสารการเบิกจ่ายโอทีกันทุกเดือนไหนจะต้องมาตรวจสอบว่านายอุทัยทำโอทีจริงหรือไม่ เจ้านายของนายอุทัยเซ็นรับทราบหรือยัง และไหนยังต้องส่งไปเซ็นอนุมัติการจ่ายโอทีของนายอุทัยอีก ฯลฯ ซึ่งบริษัทนี้ไม่ได้มีแค่นายอุทัยที่เบิกจ่ายโอทีอยู่คนเดียวซะเมื่อไหร่

คิดแล้วอย่ากระนั้นเลย มิสู้เราทำสัญญาขึ้นมาสักฉบับหนึ่งมีข้อความประมาณว่า “....ข้าพเจ้ายินดีรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรายเดือน ๆ ละ 3,000 บาท (ตัวเลขสมมุตินะครับ) แทนการรับค่าล่วงเวลาซึ่งค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะโอนเข้าบัญชีเงินเดือนทุก ๆ เดือน.....” แล้วนายอุทัยก็เซ็นสัญญาไว้เป็นหลักฐาน

วันเวลาผ่านมาเกือบสองปี อยู่มาวันหนึ่งบริษัทก็ไล่นายอุทัยออกเพราะเหตุว่านายอุทัยเมาเหล้าระหว่างขับรถซึ่งผิดกฎระเบียบของบริษัท นายอุทัยก็เลยไปฟ้องศาลแรงงานเรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแทนโอทีนี่แหละครับ เป็นที่มาของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.1390/2537 โดยสรุปดังนี้

 ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้องนายอุทัย

นายอุทัย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

โจทก์เป็นพนักงานขับรถของจำเลย มีเวลาการทำงานแน่นอนตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ระยะ

เวลาที่นอกจากเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

การที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา

จากคำพิพากษาดังกล่าวโดยสรุปก็คือบริษัทจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาย้อนหลังให้กับนายอุทัยน่ะสิครับ เพราะบริษัททำผิดกฎหมายเรงงานในเรื่องการจ่ายค่าล่วงเวลา ก็ตามกฎหมายแรงงานเขาไม่ได้เปิดช่องให้นายจ้างเหมาจ่ายค่าล่วงเวลานี่ครับ

หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าลูกจ้างทำงานล่วงเวลา นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามความเป็นจริงตามชั่วโมงที่ลูกจ้างทำงานให้ ไม่ใช่จะมาเหมาจ่ายกันแบบรวม ๆ เพราะการกระทำดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการเอาเปรียบลูกจ้างนั่นเอง

จากกรณีนี้คงจะทำให้ท่านได้ข้อคิดบางอย่างเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขการเหมาจ่ายค่าล่วงเวลา (ถ้ามี) ของบริษัทของท่านให้ถูกต้องและไม่เกิดปัญหาในอนาคตบ้างแล้วนะครับ



…………………………………….