วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567

ผู้นำที่ประสบความล้มเหลว

 1.      มีความหยิ่งทะนงตน (Arrogance) คิดว่าตัวเองถูกและคนอื่นผิดอยู่เสมอ วางตัวไว้สูงกว่าคนอื่นและมองว่าลูกน้องเป็นคนที่ต่ำกว่าตัวเอง

2.      คิดว่าตนเองเป็นจุดรวมของความสนใจของผู้คนรอบข้าง (Melodrama) ทุกคนจะต้องมาสนใจ มาเอาใจฉัน

3.      อารมณ์ไม่คงที่ ขึ้น ๆ ลง ๆ (Volatility) แกว่งไปแกว่งมา เช้าก็อารมณ์หนึ่ง บ่ายอีกอารมณ์หนึ่ง เหมือนอารมณ์ผีเข้าผีออก เดี๋ยวองค์ลงเดี๋ยวองค์ออก หรือจะเรียกว่ามีอารมณ์ผันผวนแบบวัยทองก็ได้มังครับ ลูกน้องจะเข้าไปพบต้องดูทิศทางลมให้ดีเสียก่อนเพราะกลัวอารมณ์ไม่แน่นอนของหัวหน้าแบบนี้แหละครับ

4.      กลัวการตัดสินใจ (Excessive cautions) เวลาจะตัดสินใจมักจะใช้เวลาคิดมากจนเกินเหตุ เพราะกลัวว่าถ้าตัดสินใจไปแล้วผิดพลาดตัวเองจะต้องรับผลนั้น ก็เลยมักจะยื้อและซื้อเวลาไม่กล้าตัดสินใจจนลูกน้องเอือมระอา ไม่รู้ว่าพี่จะเอายังไงกันแน่ ซึ่งแหงล่ะครับ ถ้าหน่วยงานไหนมีหัวหน้าแบบนี้คงไม่ต้องสงสัยว่างานแทบทั้งหมดจะต้องเข้าไปกองรอการตัดสินใจของหัวหน้าเป็นตั้ง ๆ เลยครับ

5.      มองแต่เรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี (Habitual Distrust) คิดแต่เรื่องที่เป็นลบ มองไปที่งานใดก็จะคิดแต่เรื่องไม่ดีไว้ก่อน จะเรียกว่ามองโลกในแง่ร้ายก็ได้นะครับ

6.      ไม่ผูกสัมพันธ์กับใคร หรือไม่ติดต่อคบค้าสมาคมกับใคร (Aloofness) เป็นคน Self จัดอีโก้สูง ผู้นำประเภทนี้อาจจะเป็นผู้นำประเภท มั่น มาก ๆ ประเภท ข้าแน่ มองคนรอบตัวด้อยกว่าไปหมด ก็เลยไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องไปคบใครหรือจะต้องไปผูกสัมพันธ์กับใคร

7.      เชื่อว่ากฎระเบียบถูกสร้างมาให้ถูกทำลาย (Mischievousness) ผู้นำประเภทนี้มักจะเชื่อว่าเขาสามารถจะทำลายสิ่งใดได้เสมอ (ถ้าเขาไม่พอใจมันขึ้นมา) ก็เลยมักจะตัดสินใจทำอะไรที่แหกกฎแหวกระเบียบเอาง่าย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวนะครับสำหรับผู้นำประเภทนี้ เพราะเขาพร้อมจะสร้างกฎใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของตนเองซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะถูกไปเสียทุกเรื่องเสียเมื่อไหร่ล่ะครับ

8.      มีความคิดแบบประหลาด ๆ พิเรนทร์ ๆ  (Eccentricity)  เพื่อคุยว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น แต่โดยแท้ที่จริงแล้วความแตกต่างนั้นไม่ได้มีนัยยะอะไรที่สำคัญที่จะอ้างได้เลย เรียกได้ว่าเป็นผู้นำประเภทที่ตีฆ้องร้องป่าวว่า ฉันแตกต่าง แต่พอถามความเห็นของคนที่เข้ามามุงดูแล้วกลับบอกว่า ก็เพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น....

            ลองคิดดูสิครับว่าถ้าหน่วยงานของท่านมีผู้นำที่ชอบคิดพิเรนทร์แล้วเข้าข้างตัวเองว่านี่คือความแตกต่างแต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่คิดก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยแถมยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาแล้วตัดสินใจผลิตสินค้าหรือบริการที่ลูกค้า (หรือแม้แต่พนักงานที่ชำนาญในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ) ก็ยังมองว่าไม่แตกต่าง แล้วออกไปสู่ตลาดแล้ว จะเกิดผลอะไรขึ้นกับสินค้าตัวนั้น?

9.      ไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด (Passive Resistance) อ้าว ! ถ้าได้ผู้นำประเภทนี้ก็ยุ่งแล้วนะครับ เพราะพูดในสิ่งที่แม้แต่ตนเองก็ยังไม่มีความเชื่อนั้นอยู่เลย มันก็ขัดแย้งกันในตัวของมันเองน่ะสิครับ แล้วอย่างนี้จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อได้อย่างไรล่ะครับ นาน ๆ ไปก็จะกลายเป็นท่านพูดอย่างแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง ในที่สุด

10.   ต้องการความสมบูรณ์แบบมากเกิน (Perfectionist) ไปโดยไปเสียเวลาทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แถมก็ทำได้ดีแต่พอเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ๆ กลับทำผิดพลาดหรือเรียกว่า เล็ก ๆ ทำ (ได้ดีเสียด้วย) แต่ใหญ่  ๆ ทำผิดพลาด

11.   อยากจะทำตัวให้เป็นคนที่คนอื่นรักอยู่เสมอ (Eagerness to please) เรียกว่าอยากสร้างภาพให้ตัวเองเป็นพ่อพระ หรือแม่พระ ภาพพจน์ตัวเองจะต้องดูดีเสมอ ซึ่งในชีวิตจริงของผู้นำนั้นจะต้องมีทั้ง ให้คุณ และ ให้โทษ กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หรือในบางสถานการณ์ต้องการความชัดเจนเด็ดขาด หากผู้นำยังต้องการทำตัวให้เป็นที่รักของคนรอบข้างตลอดเวลานั้น ผู้นำท่านนั้นก็น่าจะพบปัญหาแล้วล่ะครับ

            หวังว่าเรื่องนี้คงจะทำให้ท่านที่เป็นหัวหน้าจะอ่านแล้วนำมาคิดทบทวนตัวเองเพื่อระมัดระวังในเรื่องที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารลูกน้อง และรู้ว่าควรจะทำยังไงเพื่อให้เป็นหัวหน้าที่ประสบความสำเร็จได้แล้วนะครับ

Cr.จากหนังสือ Why CEO's Fail

                                 .......................