วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567

จริงหรือที่เรื่องของคนก็ต้องให้ฝ่ายบุคคลดูแล?

              การที่องค์กรแต่งตั้งให้ใครเป็นหัวหน้างานนั้น ก็หมายความว่าคน ๆ นั้นย่อมจะมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ดีเหนือกว่าคนอื่นในระดับเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงเขาถึงไว้วางใจแต่งตั้งขึ้นมาให้ดูแลรับผิดชอบงาน และทีมงาน

          เมื่อพูดถึง “ทีมงาน” ก็ประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือหัวหน้าทีมงานกับสมาชิกในทีมงาน หรือพูดง่าย ๆ ว่าประกอบด้วยหัวหน้ากับลูกน้องนั่นเอง

            หัวหน้างานย่อมจะต้องมีหน้าที่บริหารงานในทีมงานทุกเรื่องด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งหมายความรวมถึงการบริหาร “คน” ในทีมงานด้วยครับ!

            นั่นคือ หากลูกน้องอู้งาน, ป่วยไม่จริง, มาสายเป็นนิจ, ลากิจเป็นประจำ, ไม่สนใจทำงาน, คอยแต่จะระรานทะเลาะวิวาท ฯลฯ 

           หัวหน้าก็ย่อมต้องมีหน้าที่โดยตรงในการว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องเพื่อให้เขาได้สติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่

            ถ้าหัวหน้าไม่บริหารจัดการลูกน้องของตัวเอง แล้วจะให้ใครมาจัดการล่ะครับ?

            ยังมีองค์กรอีกไม่น้อยเลยนะครับ ที่ผู้บริหารระดับสูงเช่นกรรมการผู้จัดการ หรือ CEO กลับมองว่าเรื่องการบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพียงว่า “เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน” เท่านั้น !!??

            ซึ่งองค์กรเหล่านั้นก็จะบอกให้ฝ่ายบุคคลมีหน้าที่คล้าย ๆ กับตำรวจกองปราบในการสอดส่องดูแลการประพฤติปฏิบัติตัวของพนักงานทุกคนในองค์กร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในระดับปฏิบัติการหรือระดับล่าง) ว่าใครทำตัวผิดกฎระเบียบวินัยขององค์กรบ้างหรือไม่, ใครป่วย สาย ลา ขาดงานบ้างหรือไม่

            บางองค์กรถึงขนาดว่าถ้าพนักงานจะลาพักร้อน (หรือเรียกให้ถูกว่าใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี) ก็ยังต้องมาลาที่ฝ่ายบุคคลก็มี

            หากพนักงานคนใดทำตัวผิดระเบียบต่าง ๆ อย่างที่ผมบอกมาข้างต้นก็ให้ฝ่ายบุคคลมีอำนาจเรียกไปตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเผลอ ๆ อาจจะลงโทษถึงขั้นพักงานหรือเลิกจ้างไปได้เสียด้วยอีกแน่ะ!

            ทำเป็นเล่นไป ผมเคยทำงานอยู่ในองค์กรที่กรรมการผู้จัดการมีวิธีคิดทำนองนี้อยู่ด้วยนะครับ คือจะบอกให้ผมซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่เรียกพนักงานที่ปฏิบัติตัวผิดกฎระเบียบของบริษัท 

            เช่น พนักงานหญิงที่ใส่กระโปรงสั้นไป ยาวไป แต่งหน้าทาปากจัดจ้านเกินไป หรือพนักงานชายที่ไว้หนวดเครามากเกินไป ผมเผ้ายาวรุงรัง ไม่ติดป้ายชื่อ ไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยเช่นหน้ากากหรือใส่หมวกนิรภัยตามระเบียบ 

            ตลอดจนพนักงานที่มาทำงานสายหรือขาดงานบ่อย ๆ มาตักเตือนได้ทันที เหมือนกับผมเป็นหัวหน้าของพนักงานทั้งบริษัท

            เพราะ MD แกอ้างว่าเป็นเรื่องของคน คุณก็เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องคนซึ่งถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลโดยตรง

            แปลกไหมครับ? ก็พี่แกเล่นคิดง่าย ๆ ว่าฝ่ายบุคคลก็ต้องดูแลเรื่องของคนหมดทุกเรื่อง!!

            แล้วถ้างั้นหัวหน้างานในระดับต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานเขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรที่เกี่ยวกับลูกน้องเขาบ้างเชียวหรือ ?

            แต่ผมก็บอก MD ไปว่าถ้าจะให้ผมเรียกพนักงานเหล่านั้นมาตักเตือนก็ได้ครับ แต่ท่านต้องแต่งตั้งให้ผมเป็นหัวหน้าของผู้จัดการฝ่ายทุกฝ่ายในบริษัทด้วยเพราะผมจะเรียกพวกผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ มาตักเตือนด้วยเช่นเดียวกันว่าคุณดูแลลูกน้องกันยังไงถึงได้ปล่อยปละละเลยจนทำให้ฝ่ายบุคคลต้องมาตักเตือนลูกน้องของคุณแบบข้ามหัวคุณไปอย่างนี้?

            ซึ่งก็ต้องมาทำความเข้าใจกับผู้บริหารระดับสูงให้เข้าใจว่า “ผู้จัดการฝ่ายบุคคลตัวจริงก็คือหัวหน้างานนั่นเอง” โดยต้องนั่งอธิบายกันจนแกยอมรับนั่นแหละครับ

            ซึ่งผมก็อธิบายง่าย ๆ ว่าหากท่านเป็นพ่อแม่คน สมมุติว่าลูกของท่านมีปัญหาเช่นเรียนไม่ดี สอบตก มีปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ น่ะ 

           ใครควรจะเป็นคนอบรมสั่งสอนหรือตักเตือนลูก?

            จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูกับโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียวโดยพ่อแม่ไม่ต้องมาสนใจกับลูกของตัวเองเลยใช่ไหมครับ ?

            ฉันใดก็ฉันนั้นหัวหน้างานก็ยังคงต้องคอยดูแลลูกน้องโดยมีฝ่ายบุคคลเป็นผู้ช่วยในการให้คำแนะนำ หรือช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ เช่นเป็นคนที่คอยแนะนำว่าวิธีการตักเตือนที่ถูกต้องควรจะทำยังไง หนังสือตักเตือนที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไรโดยฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้

            ในระหว่างการตักเตือนพนักงานหากหัวหน้างานไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจ ฝ่ายบุคคลก็พร้อมจะช่วยเหลือเข้าไปเป็นพยานในห้องตักเตือนให้เสมอ

          แต่บทบาทหลักในการตักเตือนให้คุณให้โทษลูกน้องจะต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบุคคลไปแย่งซีนหรือแย่งบทบาทการเป็นหัวหน้ามาทำเองเสมือนหนึ่งเป็นหัวหน้างานโดยตรงครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้ท่านที่เป็นหัวหน้างานน่าจะมีความชัดเจนแล้วว่าท่านคือผู้จัดการฝ่ายบุคคลตัวจริงนะครับ

             ถ้าหัวหน้าคนไหนไม่กล้าตักเตือนลูกน้องที่ทำผิดก็ไม่ควรเป็นหัวหน้า!

             หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่าควร Promote คนขึ้นเป็นหัวหน้าเมื่อเขาพร้อม ไม่พร้อมอย่า Promote ครับ

                                    .........................