วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ภาพจำลองการปรับอัตราเริ่มต้นใหม่ตามคุณวุฒิเพื่อหนีผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 600 บาทภายในปี 2570

          มาตามสัญญาครับ

            ที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะทำภาพจำลองผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาทภายในปี 2570 และมีการพูดถึงอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีสำหรับคนจบใหม่จะเป็นเดือนละ 25,000 บาทไปพร้อมกัน

            เนื่องจากยังมีคนเข้าใจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีสับสนกันอยู่ผมก็เลยขอถือโอกาสอธิบายให้เข้าใจตรงกันอย่างนี้

1.      การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประกาศโดยกระทรวงแรงงาน จะมีผลใช้บังคับกับนายจ้างที่จะต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าที่กระทรวงแรงงานประกาศ ถ้าฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

2.      ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราการจ่ายต่อวันวันต้องไม่ต่ำกว่าที่กระทรวงแรงงานประกาศ

3.      นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายให้กับลูกจ้างไม่เฉพาะลูกจ้างคนไทยนะครับ แม้แต่ลูกจ้างต่างด้าวถ้าขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องจ่ายให้ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างต่างด้าว (ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง) ต่ำกว่าลูกจ้างคนไทยนายจ้างจะได้รับโทษตามข้อ 1 ครับ

ส่วนอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีที่พรรคการเมืองหาเสียงกันว่าจะให้เดือนละ 25,000 บาทนั้น รัฐบาล (โดยกระทรวงแรงงาน) จะมาบังคับให้บริษัทต่าง ๆ จ่ายคงไม่ได้ เพราะบริบทของอัตราเริ่มต้นตามวุฒิกับค่าจ้างขั้นต่ำไม่เหมือนกัน

แต่การที่อัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีจะขยับเพิ่มขึ้นนั้น มันเกิดจากผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่างหาก !!

อย่าว่าแต่คุณวุฒิปริญญาตรีเลยครับ ผลกระทบจะเริ่มตั้งแต่คุณวุฒิปวช.,ปวส.มาจนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท, ปริญญาเอก (ถ้าองค์กรรับปริญญาเอกจบใหม่)

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 353 บาท (เพื่อให้คิดง่าย ๆ ผมเอา 30 คูณให้เป็นรายเดือนคือเดือนละ 10,590 บาท) สมมุติอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.คือ 11,500 บาท ปวส.13,000 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท

เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 402 บาท (ปรับขึ้น 14% คิดเป็นเดือนละ 12,060 บาท)

ถามว่าเราไม่ปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.,ปวส.,ปริญญาตรี, ปริญญาโท ได้ไหม ?

คำตอบคือ “ได้” ครับ กระทรวงแรงงานมาบังคับให้เราปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิไม่ได้ก็จริง แต่ท่านจะเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะแซงอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวช.

ถ้าบริษัทไม่ปรับปวช.และคุณวุฒิอื่น ๆ หนี มันจะสมเหตุสมผลไหมครับ ?

ถ้าคู่แข่งเขาปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิหนีค่าจ้างขั้นต่ำแล้วบริษัทเราไม่ปรับ จะมีน้อง ๆ จบใหม่มาทำงานกับเราไหม ?

เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เลยเป็นความจำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำไปโดยปริยายแหละครับ

ผมก็เลยทำตารางจำลองการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเพื่อหนีผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นในปีหน้า (2567) โดยมีเป้าหมายในปี 2570 จะเป็นวันละ 600 บาท

วิธีคิดการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิหนีค่าจ้างขั้นตามตามภาพข้างล่างนี้ผมใช้วิธีนำเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งคูณอัตราเริ่มต้นตามวุฒิต่าง ๆ เข้าไปตรง ๆ นะครับ

ซึ่งในวิธีการปรับแบบนี้ถือว่าเป็นวิธีการปรับแบบ “ทื่อ” มากที่สุด และเป็นการปรับปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าหากจะปรับแบบเป็นขยัก (หรือแบบมีชานพัก) เช่น ปีละ 2 ครั้งก็จะทำให้เปอร์เซ็นต์ในการปรับเฉลี่ย 14% ต่อปีลดลง

ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ก็น่าจะพอเป็น Benchmark ให้ชาว Com & Ben หาวิธีปรับแบบอื่นมาเทียบเคียงแล้วดูกันเอาเองนะครับว่าวิธีการปรับแบบไหนจะเหมาะกับองค์กรของท่านมากที่สุด และบริษัทของท่านมีขีดความสามารถในการจ่ายไหวต่อไปครับ

หวังว่าข้อมูลนี้จะพอเป็นไอเดียให้ท่านเอาไปคิดต่อยอดให้เป็นประโยชน์กับบริษัทของท่านนะครับ