วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

บริษัทให้เซ็นสัญญาห้ามไปทำงานกับคู่แข่งผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

             ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเรื่องสัญญา ประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับการทำงานใด ๆ ที่ขัดกฎหมายจะเป็นโมฆะ (เมื่อขึ้นศาลแรงงาน) เสมอ อธิบายโดยสรุปคือฝ่ายบริหาร (MD/CEO) มักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าบริษัทจะออกประกาศ คำสั่ง กฎระเบียบ ใด ๆ ก็ได้ หากพนักงานฝ่าฝืนบริษัทมีสิทธิทำตามประกาศ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่ประกาศออกมาได้ทุกอย่าง

            เช่น บริษัทมีระเบียบเรื่องการลาออกเอาไว้ว่าถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าทำให้บริษัทเกิดความเสียหายไม่สามารถหาคนมาทำแทนได้ทัน หรือเกิดความเสียหายที่เกิดจากการทิ้งงานที่รับผิดชอบไปแบบกระทันหัน

            สมมุตินาย A ยื่นใบลาออกวันที่ 15 มิย.โดยมีผลวันที่ 1 กค. บริษัทก็จะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1-15 มิย.เป็นต้น

            ซึ่งระเบียบแบบนี้แหละครับที่ผิดกฎหมายแรงงาน หากบริษัททำอย่างที่บอกมานี้ถ้าพนักงานไปฟ้องบริษัทก็แพ้คดีแหงแก๋

แต่ยังมีสัญญาประเภทหนึ่งที่นายจ้างหลายแห่งจะให้ลูกจ้างเซ็นคือสัญญาห้ามไปทำงานกับคู่แข่งเมื่อลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทไปแล้ว

            โดยในสัญญาก็มักจะบอกเอาไว้ว่าถ้าหากพนักงานผิดสัญญาดังกล่าวจะทำให้บริษัทเกิดความเสียหายซึ่งบริษัทก็จะปรับเงินเพื่อชดเชยความเสียหายนั้น ส่วนจะปรับกี่บาทก็แล้วแต่ที่สัญญาจะระบุเอาไว้

            คำถามคือ....

          สัญญาห้ามไปทำงานกับคู่แข่งผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

            เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้

ฎ.4368/2549

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อห้ามดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามลูกจ้างประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้อย่างเด็ดขาด ลูกจ้างสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงที่ห้ามได้

ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของลูกจ้างทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามการประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างเท่านั้น

          จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปได้โดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจย่อมมีผลบังคับได้ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในส่วนข้อห้ามมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลแรงงานกลางว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างให้ต้องรับภาระมากเกินไปตามพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2540 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และกำหนดให้มีผลใช้บังคับได้เพียง 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการเป็นลูกจ้าง....

          เมื่อดูจากแนวคำพิพากษาดังกล่าวจึงสรุปได้ว่าสัญญาแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายแรงงานครับ

และถ้าหากไปดูมาตรา 14 ของกฎหมายแรงงานจะบอกเอาไว้อย่างนี้

มาตรา ๑๔/๑ สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งนั้น มีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

          จากแนวคำพิพากษาและมาตรา 14/1 จึงสรุปได้ว่า

1.      สัญญาที่ห้ามไปทำงานกับคู่แข่งเมื่อพ้นสภาพพนักงานของบริษัทไปแล้วไม่ผิดกฎหมายแรงงาน

2.      หากนายจ้างเห็นว่าลูกจ้างทำผิดสัญญาดังกล่าว นายจ้างก็มีสิทธิจะไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้ลูกจ้างชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างทำผิดสัญญาได้

3.      นายจ้างก็ต้องนำหลักฐานต่าง ๆ ไปพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการที่ลูกจ้างผิดสัญญานั้น เกิดความเสียหายแก่บริษัทยังไง เท่าไหร่ และจะเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้เท่าไหร่ยังไง

4.      ศาลจะเป็นผู้พิจารณาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วตัดสิน โดยอยู่บนหลักให้มีความเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

เคลียร์นะครับ 😊