วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ทำไมผมถึงตัดสินใจลาออกภายใน 3 วินาที

        ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากตัดสินใจตามหัวข้อข้างต้นหรอกนะครับ เมื่ออ่านเรื่องนี้จบท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผมก็ได้ ผมก็เพียงแค่อยากแชร์ประสบการณ์ในอดีตให้ผู้อ่านได้รับทราบเผื่อจะเป็นข้อคิดเตือนใจเหมือนกับชื่อหนังสือเล่มนี้คือ “กระตุกต่อมคิดชีวิตคนทำงาน”

ก็เท่านั้นแหละครับ

          ผมเคยทำงานในองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง งานหนักมากต้องรับผิดชอบสูงมาก ผมถูกหัวหน้ามอบหมายงานที่สำคัญให้ทำแทบทุกเรื่อง แม้วันลาพักร้อนจะมีปีละ 20 วันก็ไม่เคยลาพักร้อนได้ครบหรอกครับ เฉลี่ยปีหนึ่งผมจะลาพักร้อนไม่เกิน 5 วัน

และผมก็ไม่เคยเรียกร้องให้จ่ายค่าพักร้อนคืนในปีที่ผมไม่ได้ใช้สิทธิ

          แม้งานจะหนักแต่สิ่งที่ผมได้รับก็ถือว่าคุ้มค่าเนื่องหัวหน้าก็ปรับเงินเดือนให้ผมสูงมากอีกทั้งสวัสดิการขององค์กรที่ดีเยี่ยมเพราะเป็นองค์กรต่างชาติจึงมีการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีมาก ๆ ตามผลงาน

แต่ถ้าใครทำงานไม่ดีไม่ได้ตามที่องค์กรคาดหวังก็เตรียมเก็บของลงกล่องกลับบ้านพร้อมรับค่าชดเชยไปได้ทันทีเหมือนกันนะครับ

          คำที่หัวหน้าผมมักจะพูดก็คือ “You try it or leave it” หรือที่ผมแปลเอาเองว่า “ถ้าคุณทำได้เราจ้างคุณ แต่ถ้าคุณทำไม่ได้ก็ไปซะ !

และอีกคำคือ “ฉันคาดหวังให้ทุกคนต้องทำงานให้ได้ 120%”

       สำหรับผมที่มีอายุ 30 เศษ ๆ (ในขณะนั้น) ที่มีไฟในการทำงาน มีความมั่นใจสูง พร้อมลุยงานหนักทั้งงานด้านบริหารและ Operation ได้รับผลตอบแทนที่สูงมากผมก็ถือว่าโอเคเลยครับบอกได้ว่าถึงไหนถึงกัน

       ดูเหมือนทั้งงานและเงินจะลงตัวสำหรับผม

แล้วทำไมถึงต้องลาออกภายใน 3 วินาทีล่ะ ?

          เรื่องราวมาเกิดขึ้นตอนที่ลูกผมอายุประมาณ 2 ขวบแกสำลักนมแล้วทำให้เกิดติดเชื้อในปอดถึงกับต้องแอดมิทอยู่โรงพยาบาลซึ่งหมอบอกว่าจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดและอาจจะต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์

          ผมก็เลยขอใช้สิทธิลาพักร้อน 5 วันทำงานซึ่งก็ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้าแล้วเพื่อมาคอยดูแลลูก

          แต่พอผมพอหยุดวันแรกเท่านั้นแหละ หัวหน้าให้ลูกน้องผมโทรมาตามให้กลับไปทำงานครับ !!??

       ผมก็ถามลูกน้องว่ามีงานอะไรเร่งด่วนฉุกเฉินที่ผมจำเป็นจะต้องไปเคลียร์ด้วยตัวเองแบบที่ถ้าผมไม่ไปไม่ได้ งานจะมีความเสียหายหรือไม่

          ลูกน้องผมก็บอกว่าไม่มีอะไร พวกเขาสามารถทำกันได้ และถ้ามีอะไรสงสัยเขาก็โทรมาถามกับผมได้อยู่แล้ว แต่พี่ (หัวหน้า) อยากให้คุณมาทำงาน เขาก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไงเพราะถูกหัวหน้าสั่งให้โทรมาตามผมกลับไปทำงานก็เลยต้องโทรมาตามหัวหน้าสั่ง แถมบอกอีกว่า...

พี่เขาบอกว่าคุณอยู่โรงพยาบาลเฝ้าลูกก็ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เพราะหมอพยาบาลเขาก็ดูแลรักษาลูกคุณอยู่แล้ว ภรรยาของคุณก็เฝ้าลูกอยู่แล้ว คุณเอาเวลากลับมาทำงานจะดีกว่า

          ลองถามใจคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ดูเถอะครับว่าถ้าลูกเล็ก ๆ ป่วยไม่สบายมากจนถึงกับต้องแอดมิทนอนโรงพยาบาล พ่อแม่จะมีจิตใจอยู่ที่ทำงานหรืออยู่ที่ลูกมากกว่ากัน

         และถ้าถูกหัวหน้าพูดมาแบบนี้จะคิดยังไง ?

          ผมนิ่งคิดประมาณ 3 วินาที (เป็น 3 วินาทีที่รู้สึกว่าความดันโลหิตพุ่งสูงปรี๊ด) แล้วก็ตอบกลับไปว่า “งั้นคุณไปบอกหัวหน้าเลยว่าผมจะขอใช้สิทธิลาพักร้อนเพื่อดูแลลูกจนครบกำหนด และเมื่อลูกผมหายดีออกจากโรงพยาบาลแล้วผมจะไปยื่นใบลาออกกับหัวหน้าเอง”

         เมื่อลูกผมหายดีและกลับบ้านได้ผมก็ไปที่ทำงานพร้อมกับยื่นใบลาออกตามที่บอกลูกน้องไป

          ผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรนั้นหลายคนตกใจเมื่อรู้ว่าผมลาออกเพราะแทบทุกคนคิดว่าผมทำงาน Support หัวหน้าทุกเรื่องที่แกมอบหมาย และก็สำเร็จตามที่ต้องการทุกครั้งไม่ว่างานจะยากเย็นแค่ไหน เพราะหัวหน้าผมมักบอกใครต่อใครว่าผมเป็นมือขวาของแกถ้ามีปัญหาอะไรให้ติดต่อผมได้โดยตรง ซึ่งผมก็แก้ปัญหาแทนหัวหน้าได้ทุกครั้ง คนนอกฝ่ายจึงดูว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกัน

          เพื่อนผมหลายคนบอกว่าผมใจร้อนวู่วามรีบด่วนตัดสินใจ ทำไมถึงทิ้งงานที่ดี ทิ้งเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีเยี่ยมรายได้เดือนละกว่าแสนบาทไปโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ คิดเร็วไปหรือเปล่า

          อยากจะบอกว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด (แม้ว่าผมไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร) และอย่าเอาเงินมาฟาดหัวผมแล้วสั่งให้ผมทำอะไรก็ได้เพราะใส่หัวโขนเป็นหัวหน้า แม้แต่จะสั่งให้ผมทิ้งครอบครัวไปในยามที่มีปัญหา !!

         สำหรับผม....งานมีความสำคัญ แต่ครอบครัวสำคัญกว่า

          เพราะเมื่อเราทำงานเรายังมีวันที่จะต้องเกษียณหรือต้องพ้นสภาพพนักงานไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งในที่สุดเขาก็จะหาคนมาทำแทนเราได้เสมอ ขาดเราองค์กรไม่เดือดร้อนหรอก

         แต่เราไม่สามารถเกษียณหรือลาออกจากครอบครัวได้ และครอบครัวคงไม่สามารถหาคนใหม่มาแทนเราได้ถ้าเราต้องเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำงาน

ถ้าขาดเราครอบครัวเดือดร้อนแน่นอน !

          การให้ลูกน้องผมโทรมาตามผมกลับไปทำงานและฝากคำพูดแบบนี้มาถึงผม ผมถือว่าหัวหน้ากำลังเข้ามารุกรานครอบครัวผมแล้ว หัวหน้าครอบครัวอย่างผมก็ต้องตัดสินใจเลือก

          ซึ่งผมใช้เวลาตัดสินใจเลือกแบบเร็วที่สุดในชีวิตการทำงานครับ

          บางคนอาจจะบอกว่าเรื่องนี้ก็ผ่านมานานแล้วทำไมถึงเอามาพูดอีก ผมก็น่าจะให้อภัยได้แล้ว

          ก็อยากจะบอกว่าผมคงไม่มีสิทธิไปให้อภัยคนที่ไปถามลูกน้อง (หลังจากที่ผมลาออกไปแล้ว) ว่า “พี่ทำอะไรผิดด้วยหรือ” หรอกครับ เพราะหัวหน้าก็ไม่ได้มาเจอผมหรือมาพูดคุยเรื่องนี้กันอีกหลังจากที่ผมลาออกมาแล้ว

          แต่ที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บริหารด้วยประโยคนี้ครับ....



ผมเป็นคนที่เชื่อในหลักปฏิจจสมุปบาท หรือผลที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุนำมาเสมอ แม้ว่าการตัดสินใจลาออกจากงานที่ดีและมีผลตอบแทนดีมากในครั้งนั้นอาจจะดูเป็นเรื่องเลวร้ายในชีวิตการทำงานและในความรู้สึกของผมในขณะนั้น

       แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นทำให้วันนี้ผมมีโอกาสไปเรียนรู้การบริหารงานบุคคลในองค์กรใหม่ ๆ อีกหลายแห่ง

        และในที่สุดก็ใช้ประสบการณ์ด้าน HR ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตในการทำงานมาประกอบการอาชีพเป็นวิทยากรที่ปรึกษาอิสระด้าน HR ในปัจจุบัน และก็มีผลงานไม่ว่าจะเป็นด้านการสอน, การเป็นที่ปรึกษา, งานเขียนหนังสือ/บทความ, บล็อกเกอร์ ที่เป็นประโยชน์กับวงการ HR และผู้สนใจ

ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่ผมเล่ามาข้างต้น วันนี้ผมก็อาจจะไม่ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ก็ได้

       จึงอยากจะให้อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ว่า เมื่อไหร่ที่เราตกต่ำรู้สึกแย่อย่าเสียกำลังใจ อย่าดูถูกความสามารถของตัวเอง อย่าเอาเวลาไปมัวคิดแต่โกรธโทษตัวเองหรือโทษคนอื่น

       แต่ควรเอาเวลาไปอยู่กับปัจจุบันและคิดหาทางทำปัจจุบันให้ดีขึ้นให้ได้

       เมื่อล้มแล้วต้องลุกให้ไว ถ้าปัจจุบันดี อนาคตจะดีตามแน่นอน

       ตามหลักปฏิจจสมุปบาทครับ.

ตอนหนึ่งจากหนังสือ "กระตุกต่อมคิดชีวิตคนทำงาน" 

ดาวน์โหลดฟรีคลิ๊ก

https://www.dropbox.com/s/xlfhf6uf9277luj/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf?dl=0