วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

ทบทวนองค์ประกอบค่าตอบแทนกันดีแล้วหรือยัง ?

ในแต่ละองค์กรก็จะมีรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนที่แตกต่างกันออกไปตามนโยบายของฝ่ายบริหาร

บางบริษัทก็อาจจะจ่ายให้แต่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว 100%

บางบริษัทก็จะจ่ายเงินเดือน+สารพัดค่า

ถ้าว่ากันตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงาน

ค่าจ้างคือ....

เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติ ของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้มาทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตาม พรบ.นี้

เมื่อดูจากนิยามข้างต้นจึงแน่นอนว่า "เงินเดือนคือค่าจ้าง" แหงแก๋

แต่ "ค่าจ้างไม่ได้มีเฉพาะเงินเดือน" สำหรับบริษัทที่จ่ายค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือน

ผมก็เลยขอเรียกค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนแบบรวม ๆ กันว่า "สารพัดค่า"

เช่น ค่าครองชีพ, ค่าอาหาร, ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ค่าเบี้ยขยัน, ค่ากะ ฯลฯ ซึ่งแต่ละแห่งก็จะจ่ายสารพัดค่าแตกต่างกันออกไป

แต่ไม่ว่าจะมีสารพัดค่ากี่ตัว สิ่งที่ HR สาย Com & Ben (Compensation & Benefit) จะต้องมาดูก็คือสารพัดค่าตัวไหนที่เป็นค่าจ้าง 

และตัวไหนที่ไม่ใช่ค่าจ้าง

เพราะสารพัดค่าตัวที่เป็นค่าจ้าง บริษัทจะต้องนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เช่น การคำนวณค่าโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, เงินสมทบส่งประกันสังคม เป็นต้น

ผมก็เลยนำภาพมาให้ดูข้างล่างนี้ว่าอะไรบ้างเป็นค่าจ้าง อะไรที่ไม่ใช่ค่าจ้าง และสารพัดค่าตัวไหนที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นค่าจ้าง เพื่อให้ Com & Ben ตั้งหลักบริหารจัดการให้ถูกต้องต่อไปครับ