วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

อวสาน Successor

             องค์กรที่มองยาวไม่มองสั้นก็มักจะต้องมีการกำหนดตัว “ทายาท” หรือ “Successor” เอาไว้เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวคนที่เป็นเจ้าของตำแหน่งหลักจะได้มีคนมารับไม้ต่อไปได้โดยให้มีรอยสะดุดน้อยที่สุด

            จากแนวคิดนี้จึงจำเป็นต้องมีผังทดแทน (หรือบางแห่งอาจจะเรียกว่าแผนสืบทอดตำแหน่ง) หรือ Succession Plan ขึ้น โดยฝ่ายบริหารระดับสูงจะมาค้นหาดูว่าตำแหน่งใดบ้างในองค์กรที่เป็นตำแหน่งหลัก (Key Position) ที่สำคัญจำเป็นต้องหา Successor เพื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนในกรณีที่เจ้าของตำแหน่งหลักเกิดลาออก, ป่วย, ตาย, ย้าย, เกษียณ ฯลฯ จะได้ไม่ทำให้งานขลุกขลักหรือหาคนมาแทนไม่ได้ในอนาคต

            แล้วฝ่ายบริหารก็ต้องมีกระบวนการสรรหาคัดเลือกคนที่จะมาเป็น Successor และทำแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อให้ Successor ที่ถูกคัดเลือกมีความพร้อมที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในอนาคต

            ทั้งหมดที่ผมพูดมาข้างต้นก็เป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับ Succession Plan ที่มักจะพูดถึงความจำเป็น การค้นหา คัดเลือก และพัฒนา Successor เป็นแผนหลัก

          แล้วแผนสำรองหรือแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) ในเรื่องนี้ล่ะมีบ้างหรือยัง ?

            เพราะแผนการพัฒนา Successor ก็ควรจะต้องมีการประเมินผลตัว Successor อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่ายังคงเหมาะที่จะเป็นทายาทของตำแหน่งหลักนั้นต่อไปหรือไม่

            ไม่ใช่ว่าเมื่อกำหนดตัว Successor และเข้าสู่แผนพัฒนาแล้วจะมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นคนนี้แน่ ๆ

            เพราะแผนสำรองนั้นก็จะต้องถูกนำมาใช้ในกรณีที่ Successor บางรายเกิดปัญหาระหว่างทางจนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นอวสาน Successor

            มีอะไรบ้างครับ ?

1.      ปัญหาสุขภาพส่วนตัวหรืออุบัติเหตุ : ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ Successor เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงจนไม่สามารถทำงานหนักหรือรับผิดชอบงานที่มากไปกว่านี้ได้ หรือบางเคสอาจถึงต้องออกจากงานไปพักรักษาตัวและไม่อาจกลับมาทำงานได้ตามปกติ

2.      ปัญหาครอบครัว : ในระหว่างการพัฒนา Successor อาจะเกิดปัญหาในครอบครัวที่มีผลกระทบต่องานจนทำให้ Successor ไม่สามารถจะรับตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ เช่น การได้เลื่อนตำแหน่งหรือย้ายไปทำงานต่างประเทศแต่ครอบครัวไม่สามารถย้ายตามไปได้ และตัว Successor เองก็ไม่สามารถจะทิ้งครอบครัวไปทำงานต่างประเทศได้, ปัญหาลูกติดเกมติดยา, ปัญหากับคู่สมรสหรือปัญหาญาติในครอบครัวหรือปัญหามีบ้านเล็กบ้านน้อยพัวพันอิรุงตุงนังจนมีผลกระทบกับการทำงาน ฯลฯ

3.      ลมการเมืองในองค์กรเปลี่ยนทิศ : ต้องยอมรับว่าการเมืองในองค์กรมีอยู่จริง เดิม Successor อาจเป็นลูกรักของนายใหญ่คนเก่า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายใหญ่ก็อาจจะทำให้เกิดศรศิลป์ไม่กินกันกับนายใหญ่คนใหม่ หรือนายใหญ่คนใหม่มี Hidden Agenda ที่อยากจะหนุนคนอื่นมาเป็น Successor แทนคนเดิม ก็ทำให้กลายเป็นจุดจบของ Successor คนเดิมได้เหมือนกัน

4.      หัวหน้าขี้อิจฉาและไม่ร่วมมือพัฒนา Successor : เรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญมากปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นได้คือ Successor อาจจะทำบุญมาไม่ดีได้มาเจอกับหัวหน้าขี้อิจฉาริษยา กลัวว่า Successor จะมาเลื่อยขาเก้าอี้ ก็เลยไม่ทำตัวเป็นโค้ชเป็นพี่เลี้ยงที่คอยช่วยสอนงานหรือให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ถ้าเจอหัวหน้าสกัดดาวรุ่งแบบนี้ Successor ก็เหนื่อยหรืออาจถึงจุดอวสานคือลาออกไปจากองค์กร

5.      ต่อเกษียณเจ้าของตำแหน่งหลักไปเรื่อย ๆ  : ผมเคยเขียนเรื่อง “เหรียญสองด้านกับการต่อเกษียณ” ไปแล้ว ว่าการต่อเกษียณอายุพนักงานในตำแหน่งเดิม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งที่เป็น Key Position) จะทำให้เกิดปัญหา Career Path หยุดชะงัก ทำให้ Successor ไม่สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้ และเป็นเหตุทำให้ Successor ที่มีความสามารถตัดสินใจลาออกไปในที่สุด

6.      ปัญหาพฤติกรรมส่วนตัว : อวสาน Successor ตัวนี้จะเรียกว่าเป็น “สนิมเหล็กเกิดจากเนื้อในตัว” ก็ได้นะครับ เช่น Successor บางคนมีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัวที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของทั้งตัวเองและองค์กร เช่น ปัญหาพฤติกรรมล่วงเกินทางเพศกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่น, เป็นคนโทสะแรงไม่สามารถควบคุมอารมณ์และคำพูดไว้ได้ พูดเมื่อไหร่เรียกทัวร์มาลงได้เสมอ, ติดอบายมุข ติดการพนัน ติดแอลกอฮอล์ ติดยาเสพติด, มีพฤติกรรมฉ้อฉลทุจริต ฯลฯ พฤติกรรมส่วนตัวเหล่านี้ทำให้ Successor ถึงอวสานได้เลยครับ

จากเรื่องที่ผมฝอยมาข้างต้นเชื่อว่าจะทำให้ท่านเห็นความน่าจะเป็นของอวสาน Successor และเกิดไอเดียในการคิดแผนสำรองขึ้นมาบ้างแล้วนะครับ