วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565

หัวหน้างานกับการสอนงานพนักงานทดลองงาน

          เมื่อบริษัทรับพนักงานใหม่เข้ามาทดลองงาน แม้ว่าฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเป็นผู้จัดการปฐมนิเทศ (Orientation) ให้กับพนักงานได้ทราบในเรื่องต่าง ๆ ที่พนักงานใหม่ควรทราบแล้วก็ตาม

            หัวหน้างานก็ควรทราบว่าการปฐมนิเทศที่จัดโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั้น มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คืออยากให้พนักงานใหม่เกิดความรู้สึกประทับใจครั้งแรกที่ดี (First Impression) กับบริษัท

            ภายหลังจากที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจัดปฐมนิเทศให้พนักงานใหม่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่จะต้องรับไม้ต่อและมีการต้อนรับน้องใหม่เพื่อให้เกิดความประทับใจอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น....

            จัดให้มีการสอนงานพนักงานใหม่ตามแผนการสอนงานเพื่อให้น้องใหม่ได้ทราบว่าในหน่วยงานที่ตัวเองมาสังกัดอยู่นั้น มีงานและความรับผิดชอบอะไรบ้าง

            เพื่อให้น้องใหม่มีความเข้าใจในลักษณะงาน, บทบาทหน้าที่งานตาม JD ของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง โดยมีพนักงานเดิมที่มีความรู้ในงานและมีทักษะในการสอนงานที่ดีเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดและสอนงานพนักงานอย่างใกล้ชิด

          หัวหน้าบางคนมักจะมีปัญหาเมื่อรับน้องใหม่เข้ามาทดลองงานแล้ว ก็ไม่ได้มีไอเดียอะไรเกี่ยวกับการทดลองงานของน้องใหม่เลย คิดแค่ว่าจะได้ “เหยื่อ” คือมีคนเข้ามาช่วยผ่องถ่ายงาน สะสางงานของคนเก่าที่ลาออกไปทิ้งเอาไว้ได้ก็พอใจแล้วก็เลยยกเอางานที่คั่งค้างไว้ทั้งหมดมาโปะลงที่น้องใหม่แล้วก็ชี้ ๆ บอก ๆ และสั่งให้ทำ ๆ ไปตามที่บอกโดยไม่มีระบบการสอนงานที่ดี

          แถมถ้าทำงานได้ไม่ถูกใจมีตำหนิ เผลอ ๆ มีด่าอีกต่างหาก !!

            ในที่สุดน้องใหม่ที่รับวิธีการ “รับน้อง” แบบนี้ไม่ได้ก็ลาออกไปแบบเสียความรู้สึก

            แล้วหัวหน้าประเภทนี้ก็ชอบไปพูดกับคนอื่น ๆ ว่า “เด็กยุคใหม่ทำงานจับจด ไม่สู้งาน มาทำงานได้แป๊บเดียวก็ลาออก”

            โดยไม่เคยย้อนกลับมามองดูตัวเองบ้างเลยว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือเปล่า

หรือน้องใหม่ที่เข้ามาบางคนมีพฤติกรรมที่มีปัญหาเช่นมาสายบ่อย, ลาหยุดบ่อย หรือทำงานไม่ละเอียดรอบคอบ งานผิดพลาดบ่อย ฯลฯ หัวหน้าก็ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนติติงหรือส่งสัญญาณอะไรให้น้องใหม่รู้เลยว่าเขาทำงานบกพร่องตรงไหน ไม่ดียังไง  

วันร้ายคืนร้ายก็เรียกน้องใหม่มาบอกว่าน้องไม่ผ่านทดลองงานนะ เราพอกันแค่นี้เถอะพรุ่งนี้น้องไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วนะ น้องใหม่บางคนก็จะคิดแค้นว่าถูกหัวหน้ากลั่นแกล้งแล้วก็เกิดเรื่องดราม่าตามมาอีก

          ถ้างั้นหัวหน้าควรทำยังไงดีสำหรับน้องใหม่ที่เข้ามาทดลองงาน ?

            ลองทำตามนี้ดูดีไหมครับ....

1.      หัวหน้าควรมีแผนการสอนงานสำหรับพนักงานเข้าใหม่

2.      แผนการสอนงานควรมีรายละเอียดดังนี้

2.1   งานที่จะสอนมีเรื่องอะไรบ้าง

2.2   เนื้อหาที่จะต้องสอนในแต่ละเรื่อง

2.3   ระยะเวลาที่ใช้สอนงานแต่ละเรื่อง

2.4   จะสอนเมื่อไหร่ เช่น จะต้องสอนเรื่องนี้ภายในสัปดาห์แรก, สอนภายในเดือนแรกที่เข้ามาทำงาน

2.5   เป้าหมายในการสอนงานที่ชัดเจนว่าสอนเสร็จแล้วพนักงานทดลองงานจะต้องทำอะไรได้บ้าง

2.6   กำหนดตัวผู้สอนให้ชัดเจนและมีการฝึกให้ผู้สอนให้มีทักษะการสอนงาน

2.7   สอนงานตามแผนโดยผู้รับผิดชอบการสอนงานจะต้องติดตามผลการสอนงานและทดสอบดูว่าพนักงานสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

2.8   กำหนดตัวงานที่จะมอบหมายให้พนักงานทดลองงานทำหลังจากสอนงานเสร็จแล้ว

2.9   กำหนดระยะเวลาและเป้าหมายในการทำงานและแจ้งให้พนักงานทดลองงานรับทราบและเข้าใจชัดเจนตรงกันว่าต้องการเห็นพนักงานทดลองงานทำอะไรบ้าง รวมถึงพฤติกรรมในการทำงานที่หัวหน้า/หน่วยงานต้องการหรือพฤติกรรมไหนที่หัวหน้า/หน่วยงานไม่ต้องการ และจะต้องทำงานยังไงถึงจะผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์การทดลองงาน

3.      ติดตามผลการทำงานและแจ้งผล (Feedback) การทำงานให้น้องใหม่ทราบเป็นระยะ

4.      กรณีพนักงานไม่ผ่านทดลองงานหัวหน้าควรจะต้องเป็นผู้แจ้งให้พนักงานทราบด้วยตัวเองเมื่อไม่ผ่านทดลองงานไม่ควรไปโบ้ยให้คนอื่น เช่น โบ้ยไปให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนแจ้งผลพนักงานทดลองงาน เพราะฝ่ายบุคคลไม่ใช่หัวหน้าของพนักงานทดลองงานถ้าพนักงานถามว่าเขาทำงานบกพร่องยังไงถึงไม่ผ่านทดลองงานฝ่ายบุคคลก็ตอบไม่ได้หรอกครับ

5.      การแจ้งไม่ผ่านทดลองงานหัวหน้าก็ควรพูดจากับน้องใหม่ด้วยเหตุด้วยผลด้วยข้อมูลที่มีว่าเราเคยมีการพูดคุยกันไว้แล้วก่อนหน้านี้ยังไง น้องมีปัญหาอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำได้ตามที่คุยกันไว้ก่อนหน้านี้

สิ่งที่ควรระวังคือไม่ควร “ด่า” หรือใช้อารมณ์ในการแจ้งผลกับน้องใหม่ครับ

            ผมก็เลยนำตัวอย่างแผนการสอนงานและแบบประเมินเพื่อติดตามผลการสอนงานน้องใหม่มาให้ดูด้านล่างนี้ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่เป็นหัวหน้าทุกท่านในการนำกลับไปปรับใช้ดูนะครับ