วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564

พนักงานที่ทำงานในสายผลิตมานาน คุณวุฒิต่ำมีทักษะการทำงานสูงฐานเงินเดือนต่ำควรทำโครงสร้างเงินเดือนหรือขึ้นเงินเดือนยังไงดี ?

คำถามนี้จะนำ 2 เรื่องมาปนกันอยู่นะครับคือ

1. การปรับขึ้นเงินเดือน กับ 2. การทำโครงสร้างเงินเดือน

            เพราะการขึ้นเงินเดือนเป็นเรื่อง Performance ของตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ อยู่

ส่วนการทำโครงสร้างเงินเดือนเป็นเรื่องของการทำกระบอกเงินเดือนตามค่างาน (Job Value) ในแต่ละ Job Grade เป็นเรื่องของระบบไม่ได้เป็นเรื่องของตัวบุคคล

โดยมุ่งที่กรอบการจ่ายเงินเดือนต่ำสุดถึงสูงสุดในแต่ละกระบอก ว่าตำแหน่งต่าง ๆ ที่อยู่ในแต่ละ Job Grade ควรจะจ่ายเงินเดือนให้ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ (Min) และไม่เกินเท่าไหร่ (Max)

การทำโครงสร้างเงินเดือนจึงเป็นเรื่องของกฎกติกาการจ่ายเงินเดือนตามค่างานของตำแหน่งโดยไม่ได้โฟกัสไปที่ Performance ของตัวบุคคล

            ดังนั้นผมจึงขอตอบคำถามแบบแยกประเด็นดังนี้

1.      ตอนที่เราทำโครงสร้างเงินเดือนจะไม่ได้สนใจว่าพนักงานในฝ่ายผลิตคนไหนจะทำงานมานานมากน้อยเท่าไหร่ (ไม่ได้ดูตัวบุคคล) แต่จะนำตำแหน่งต่าง ๆ ทุกตำแหน่งในบริษัทมาทำการประเมินค่างานแล้วเราก็จะจัดตำแหน่งงานเข้าในแต่ละ Job Grade ตามคะแนนของแต่ละตำแหน่ง แล้วเอาตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Grade ไปดูเปรียบเทียบกับตลาดว่าเขาจ่ายกันเท่าไหร่เพื่อนำมาออกแบบโครงสร้างเงินเดือน

2.      เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วเราก็จะมีกรอบการจ่าย (คือกระบอกเงินเดือน) ในแต่ละ Job Grade ว่าแต่ละกระบอกจะมี Min เท่าไหร่และ Max เท่าไหร่

3.      ดังนั้นตำแหน่งพนักงานในฝ่ายผลิตที่อยู่มานานมีอายุงานมากกว่า 10 ปีก็จะอยู่ในกระบอกเงินเดือน (หรืออยู่ในแต่ละ Job Grade) ตามที่ออกแบบมา

จะเห็นได้ว่าการทำโครงสร้างเงินเดือนจะใช้ข้อมูลของตลาดแข่งขันเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล, หรือไม่ได้ใช้ข้อมูลอายุงาน, ไม่ได้ใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานใด ๆ มาออกแบบโครงสร้างเงินเดือน

4.      ถามว่าเมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วถ้าพบว่าพนักงานในสายงานผลิตที่ทำงานมามากกว่า 10 ปี มีทักษะการทำงานสูง แต่เริ่มต้นจากคุณวุฒิการศึกษาและฐานเงินเดือนที่ต่ำจะจัดการอย่างไร ?

อันนี้ก็คงต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันพนักงานที่ถามมานั้นเงินเดือนอยู่ตรงไหนของกระบอกเงินเดือน ที่บอกว่าพนักงานคนนี้เงินเดือนต่ำน่ะ เป็นความรู้สึกของเราไปเอง หรือพนักงานเงินเดือนต่ำจริง ๆ

ดูได้จากไหน ?

ก็ต้องดูเงินเดือนของพนักงานคนนี้เทียบกับโครงสร้างเงินเดือนในกระบอกของเขาสิครับ

ถ้าปัจจุบันเงินเดือนของพนักงานดังกล่าวต่ำกว่า Midpoint หรือหนักกว่านั้นคือต่ำขนาดอยู่ใน Quartile 1 ก็ต้องมาดูว่าพนักงานคนดังกล่าวมีผลการปฏิบัติงานดี หรือมีปัญหาอะไรเงินเดือนถึงได้ต่ำ

ถ้าเป็นคนทำงานมานานแต่ทำงานแบบเรื่อย ๆ จบไปวัน ๆ ไม่ได้พัฒนาตัวเองตามอายุงานอายุตัวที่เพิ่มขึ้นก็คงเป็นเหตุผลในตัวเองนะครับว่าทำไมเงินเดือนถึงต่ำ แล้วบริษัทอยากจะปรับเงินเดือนเพิ่มให้ไหมก็ลองไปคิดต่อเอาเองนะครับ

แต่ถ้าเป็นมีผลงานดีเด่นทำงานดีมากเป็น Key Person ที่สำคัญ (ซึ่งจากประสบการณ์ของผมนี่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยถึงน้อยที่สุด) บริษัทก็ควรจะปรับเงินเดือนให้ตามผลการปฏิบัติงานเป็นกรณีพิเศษซึ่งก็ต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการปรับเงินเดือนกันต่อไป แต่โอกาสที่จะมีพนักงานเข้าข่ายแบบนี้มีน้อยมาก ๆๆๆๆ ครับ

การบริหารจัดการที่ผมบอกมาข้างต้นบริษัทจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างเงินเดือนที่ทำมาอย่างถูกต้องและสามารถแข่งขันกับตลาดได้เป็นหลักสำคัญในการคิดและวางแผนครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมหวังว่าเราจะเข้าใจความเชื่อมโยงของโครงสร้างเงินเดือนกับการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานมานานแต่เงินเดือนน้อยได้ชัดเจนขึ้นแล้วนะครับ