วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

ผู้บริหารไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาในอนาคต

             ผมเคยเขียนเรื่องการบริหารแบบเจี่ยะป้าบ่อสื่อซึ่งหมายถึงผู้บริหารบางคนที่อยู่ดี ๆ ไม่มีเรื่องอะไรก็ไปหาเรื่องให้มันวุ่นวายเกิดปัญหากับผู้คนและเกิดปัญหากับบริษัทซะงั้น

            เช่นอยู่ดี ๆ ก็ไปออกระเบียบว่าถ้าพนักงานคนไหนไม่ลาออกตามระเบียบของบริษัทก็จะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งระเบียบแบบนี้ผิดกฎหมายแรงงานและจะเกิดปัญหากับบริษัทได้ภายหลังถ้าพนักงานไปฟ้องร้อง

            วันนี้ผมก็ได้รับคำถามทำนองเดียวกันก็เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารอีกแล้วครับ

          เรื่องมีอยู่ว่าในบริษัทแห่งหนึ่งมีระเบียบว่าถ้าบริษัทอนุมัติให้พนักงานลาพักร้อนเกินสิทธิไปในปีนี้ บริษัทสามารถจะนำวันลาพักร้อนที่ลาเกินสิทธิในปีนี้ไปหักจำนวนวันลาพักร้อนในปีถัดไปได้!!

            เช่น สมมุติว่าพนักงานมีสิทธิลาพักร้อนปีละ 10 วัน แต่ปีนี้หัวหน้าอนุมัติให้ลาพักร้อนไป 12 วัน (บริษัทไม่มีการสะสมวันลาพักร้อน) บริษัทก็สามารถจะนำ 2 วันที่ลาเกินสิทธิในปีนี้ไปหักออกในปีหน้าได้

            ดังนั้น ปีหน้าพนักงานคนนี้ก็จะเหลือสิทธิพักร้อนอยู่ 8 วัน

          คำถามคือบริษัทมีระเบียบแบบนี้ผิดกฎหมายแรงงานไหม?

            นี่แหละครับคือเรื่องที่เราคุยกันในวันนี้คือผู้บริหารไปสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดปัญหากับตัวเองในวันข้างหน้า

            หรือเปรียบเสมือนการวางกับระเบิดเอาไว้ในบ้านตัวเอง รอวันที่จะพลาดเดินไปเตะให้มันเกิดเรื่องขึ้นมา!!

          ผมได้แต่ถามกลับไปว่าทำไมบริษัทถึงไม่ให้หัวหน้าแต่ละหน่วยงานบริหารจัดการวันลาพักร้อนของลูกน้องตัวเองให้เป็นไปตามปกติที่ชาวบ้านเขาทำกัน

ลูกน้องมีสิทธิลาพักร้อนได้กี่วันก็บริหารสิทธิของลูกน้องไปตามนั้น จะไปอนุมัติให้ลาเกินสิทธิเพื่อรอให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้าไปทำไม?

            ถ้าจะอ้างว่าปีนี้งานน้อยก็เลยให้ลาพักร้อนเยอะ ปีหน้างานเยอะจะได้ไม่ต้องลาพักร้อนเยอะ

            แล้วถ้าปีหน้างานก็ยังน้อยอยู่อีกล่ะจะทำยังไงล่ะครับ?

            ถ้าสมมุติว่าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานแล้วบอกว่าก็บริษัทอยากไปอนุมัติให้เขาลาพักร้อนเกินสิทธิในปีนี้ก็ถือว่าเป็นการให้สภาพการจ้างที่เป็นคุณไปแล้ว ในปีถัดไปเขาก็ยังต้องมีสิทธิเต็มอยู่ 10 วันตามเดิมสิบริษัทจะไปหักสิทธิลาพักร้อนของเขาในปีถัดไปได้ยังไง เพราะถ้าทำอย่างงั้นก็จะเท่ากันไปลดสภาพการจ้างที่เป็นคุณของเขาในปีถัดไป

          พูดง่าย ๆ คือพนักงานจะอ้างว่าก็บริษัทอนุมัติให้ลาพักร้อนเกินสิทธิในปีนี้ไปแล้ว (ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเกินสิทธิ) ก็ถือว่าเป็นการอนุมัติโดยสุจริต บริษัทจึงไม่มีสิทธิไปหักวันลาพักร้อนคืนในปีถัดไปเพราะเป็นคนละปีกัน แม้บริษัทจะอ้างว่ามีระเบียบว่าสามารถทำได้ แต่ระเบียบนี้ขัดกฎหมายแรงงานจึงเป็นโมฆะ

            ตรงนี้ก็คงต้องอยู่ที่ศาลแล้วล่ะครับว่าท่านจะตัดสินว่ายังไง ผมคงตอบไม่ได้

          แต่ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือผู้บริหารจะไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาในอนาคตทำไมล่ะครับ?

            หรือคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา พนักงานคงไม่ฟ้องหรอก?

            ถ้าพนักงานยังไม่ฟ้องก็ยังไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่พนักงานไปฟ้องผมว่าไม่สนุกแน่ ๆ

            สู้เอาเวลาที่จะต้องมาเตรียมตัวเตรียมข้อมูล เสียเวลาขึ้นลงศาลแรงงานเสียเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับบริษัทดีกว่าไหมครับ?

          หลักก็คือ สัญญาจ้าง กฎระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับใด ๆ ของบริษัทถ้าขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้วเป็นโมฆะเสมอ ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานแต่เอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควรศาลมีอำนาจสั่งให้ใช้กับลูกจ้างได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

            หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับผู้บริหารทุกท่านที่จะออกคำสั่งหรือสัญญาจ้างหรือคำสั่งหรือระเบียบใด ๆ ในอนาคตเอาไว้ด้วย

          ตบท้ายด้วยศัพท์ฮิตในยุคนี้ว่า “อย่าหาทำ” ครับ

                                                          ...........................