วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562

HR กับจรรยาบรรณในเรื่อง “ความลับ”


            ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากจะรู้เรื่องลับ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความลับส่วนบุคคล, ความลับของหน่วยงาน, ขององค์กร ฯลฯ ยิ่งลับยิ่งอยากรู้

            ในขณะที่ก็จะมีคนอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่พอรู้ความลับก็เก็บเอาไว้ไม่อยู่ เมื่อรู้เรื่องที่ลับ ๆ มาก็อยากจะ “แฉ” ไม่ว่าจะแฉแต่เช้าหรือแฉยันเย็นยันดึกก็อดใจไว้ไม่ได้จะต้องหาทางไปนั่งเม้าท์มอยบอกเพื่อน บอกญาติพี่น้อง ฯลฯ ระบายความลับเหล่านั้นออกไปบ้างไม่งั้นจะรู้สึกเหมือนอกจะแตกเสียให้ได้ ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะเป็นพวกที่เรียกว่า “อะไรที่เรารู้ (ความลับเรื่องอะไรก็ตาม)....โลกต้องรู้”

          จากที่ผมเกริ่นนำมาข้างต้นก็เพื่อต้องการจะนำท่านเข้าสู่เรื่องของ HR กับความลับนี่แหละครับ !!

            อยากจะฝากข้อคิดกับคนทำงานอาชีพ HR ด้วยกันว่า การทำงาน HR นั้น เราจะต้องเป็นคนกลางระหว่างผู้บริหารกับพนักงานซึ่งจะต้องได้รับรู้เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายและจะได้ยินได้ฟังเรื่องลับ ๆ ของทั้งสองฝ่ายนี้อยู่เป็นประจำ เช่น....

1.      หลังจากประชุมกับฝ่ายบริหารเรื่องขึ้นเงินเดือนประจำปีเสร็จแล้วเดินออกมาจากห้องประชุม สักประเดี๋ยวจะมีคนโทรศัพท์มาถามแล้วว่าเขาจะได้ขึ้นเงินเดือนครั้งนี้กี่เปอร์เซ็นต์

2.      หลังจากประชุมพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานเสร็จ สักพักก็จะมีคนโทรมาถามว่าผลการพิจารณาเป็นยังไง ลูกน้องของเขาได้รับการเลื่อนหรือไม่ ในที่ประชุมพูดอะไรกันบ้าง ฯลฯ

3.      พนักงานมานั่งปรับทุกข์ในเรื่องปัญหาทางบ้านที่ทะเลาะกับภรรยาอยู่บ่อย ๆ เพราะภรรยาเป็นคนขี้หึงชอบระแวงว่าสามีจะไปมีกิ๊กทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้นสักหน่อยกับ HR เพราะคิดว่าเผื่อจะได้คำแนะนำอะไรดี ๆ บ้าง

4.      ฯลฯ

         นี่ยังไม่รวมถึงการนำข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครงาน เช่น เงินเดือน, ตำแหน่งงานไปเที่ยวบอกเม้าท์เที่ยวไปบอกกับผู้บริหารหรือพนักงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอีกต่างหากนะครับ

        จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าหากคนทำงาน HR จะต้องเข้าไปรับทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้วเกิดเป็นคนที่เก็บความลับไว้ไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น?

           ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างก็เพื่ออยากจะให้ข้อคิดเตือนใจคนทำงาน HR ว่านี่คือจรรยาบรรณของคนทำงาน HR แบบมืออาชีพที่จะต้องเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นความลับ เพราะยิ่งพูดออกไปยิ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกกระทบต่อองค์กรและตัวบุคคล

            แต่คนบางคนอาจจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะเขาจะคิดว่ายิ่งได้แพลมความลับออกไปเป็นระยะ ๆ ก็จะเป็นการสร้างความสำคัญให้กับตัวเองประมาณว่าฉันก็เป็นแหล่งข่าวแบบ Insider คนหนึ่งที่รู้เรื่องราวเหล่านี้ดีนะ ฉันอยู่ใกล้แหล่งข่าว ฉันรู้จริง ฯลฯ

ประมาณว่าถ้าฉันรู้โลกต้องรู้!

            ผมจะถือหลักว่าถ้าเรื่องที่ผมรู้เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กรหรือตัวบุคคล หรือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นแล้ว ผมก็จะหาวิธีบอกเรื่องเหล่านี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวังเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อเตรียมตัวแก้ไขปัญหานั้น ๆ

            จากที่ผมแชร์ประสบการณ์มาทั้งหมดก็เพื่ออยากจะให้เพื่อน ๆ ที่ทำงาน HR (ซึ่งพูดรวมไปถึงคนที่ไม่เคยทำงานด้าน HR แต่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นผู้บริหารในฝ่าย HR) ได้มีวิจารณญาณที่ดีในเรื่องเหล่านี้ และควรจะตั้งสติยั้งคิดให้ดีถือหลักที่ว่า คิดก่อนพูดและไม่ต้องพูดทุกอย่างที่เราคิดก็ได้นะครับ

          เนื่องจากการทำงาน HR เป็นงานที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายพนักงาน HR จึงควรจะต้องเก็บรักษาความลับอย่างเหมาะสมทั้งของทางด้านผู้บริหารและด้านพนักงาน

HR มืออาชีพจะต้องมีวิจารณญาณที่ดีและแยกแยะได้ว่าเรื่องใดควรพูดหรือเรื่องใดไม่ควรพูด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายกับองค์กรในภาพรวม หรือเกิดความเสียหายกับตัวบุคคลที่เป็นแหล่งข่าว

เรื่องการเก็บความลับจึงถือว่าเป็นจรรยาบรรณสำคัญเรื่องหนึ่งในงาน HR

ถ้าคนทำงาน HR ขาดคุณสมบัติด้านนี้ผมว่าก็คงเป็นได้แค่มีอาชีพทำงาน HR และเป็นเพียง HR อุปโลกน์เท่านั้นแหละครับ

............................................